Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสนอตัวแบบต่อการลดความวิตกกังวลในการคลอดของหญิงครรภ์แรก โดยมีสมมติฐานการวิจัยคือ 1. หญิงครรภ์แรกในกลุ่มทดลองที่ดูตัวแบบจะมีความวิตกกังวลในการคลอดน้อยกว่าหญิงครรภ์แรกในกลุ่มควบคุม 2. หญิงครรภ์แรกในกลุ่มทดลองที่ดูตัวแบบจะมีความวิตกกังวลในการคลอดในระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผล ลดลงกว่าระยะก่อนการทดลอง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงครรภ์แรกที่มาฝากครรภ์ในหน่วยฝากครรภ์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิ-ประสงค์ จ.อุบลราชธานี มีอายุระหว่าง 21-30 ปี อายุครรภ์ 28-34 สัปดาห์ จำนวน 40 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาจากคะแนนความวิตกกังวลโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 38-45 คะแนน และสุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองได้รับชมตัวแบบสัญลักษณ์ในรูปวิดีทัศน์ ทั้งหมด 5 เรื่องเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 เรื่อง กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลจากพยาบาลวิชาชีพตามปกติเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) วิดีทัศน์ จำนวน 5 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลตนเองระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและหลังคลอด 2) แบบวัดความรู้สึกในขณะตั้งครรภ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแปรปรวนร่วมสองทางแบบวัดซ้ำ (Two Way ANCOVA with Repeated Measure) และทดสอบความแตกต่างภายในกลุ่มทดลองด้วยการทดสอบความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One way ANOVA with Repeated Measure) ผลการวิจัยพบว่า 1. หญิงครรภ์แรกที่ดูตัวแบบมีคะแนนความวิตกกังวลในการคลอดน้อยกว่าหญิงครรภ์แรกที่ไม่ได้ดูตัวแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. หญิงครรภ์แรกที่ดูตัวแบบมีคะแนนความวิตกกังวลในการคลอดในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผลลดลงกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนคะแนนความวิตกกังวลในการคลอดในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผลไม่มีความแตกต่างกัน