Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์จะศึกษามาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพิจารณาคดีอาญา เนื่องจากปัจจุบันการได้มาซึ่งพยานบุคคลในคดีอาญามีอุปสรรคหลายประการ เช่น ทัศนคติหรือความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีอาญาที่ใช้ระยะเวลามาก รวมทั้งสาเหตุประการสำคัญคือพยานบุคคลมีความหวาดกลัวจะได้รับภยันตรายหรือได้รับอันตรายจากการให้การเป็นพยานในคดีอาญา ผลการศึกษาวิจัยที่ได้จากการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์บุคคลพบว่า การให้ความคุ้มครองพยานบุคคลโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นกลไกหนึ่งที่เป็นหลักประกันให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยปัจจุบันในกรณีที่พยานบุคคลได้รับการกระทำในลักษณะที่เป็นการยุ่งเหยิงไม่ว่าทางตรงหรือโดยอ้อม รัฐมีมาตรการทางกฎหมายประกอบด้วยการควบคุมผู้ต้องหาการออกหมายจับ การพิจารณาการปล่อยชั่วคราว การโอนคดี การสืบพยานล่วงหน้า การสืบพยานโดยการถ่ายทอดภาพและเสียง รวมทั้งใช้มาตราการทางอาญาเกี่ยวกับความรับผิดต่อการกระทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและร่างกายมาปรับใช้ได้ แต่เนื่องจากสภาพอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการพัฒนาขององค์กรอาชญากรรมทำให้รัฐจะต้องเพิ่มมาตรการพิเศษในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยของพยานบุคคล รวมทั้งครอบครัวหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องของพยานบุคคลโดยการให้การปกปิดชื่อ ที่อยู่ของพยานเป็นความลับ การให้พยานได้รับการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือที่อยู่ หรือการได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยในกรณีที่มีเหตุอันตราย หรือการให้ความคุ้มครองโดยวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสม การบัญญัติความรับผิดต่อการกระทำที่มีลักษณะเป็นการยุ่งเหยิงพยาน รวมทั้งให้รัฐมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในกรณีที่มีการยุ่งเหยิงพยาน โดยการให้มีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ผู้วิจัยเสนอให้อยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในด้านการรักษาความปลอดภัย นอกจากนั้นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งสังคมตระหนักถึงความสำคัญของพยานบุคคลต่อกระบวนการยุติธรรม