Abstract:
ค่าการกระจายคิวทีจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (QT dispersion) เป็นที่วัดได้จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาตรฐาน ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างกันของ repolarization ของกล้ามเนื้อหัวใจในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ มีการศึกษาพบว่าค่าการกระจายคิวทีจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบว่าจะมีคุณค่าในการวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพียงใด การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์เพื่อวัดค่าการกระจายคิวทีจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนและหลังการฉีดยา dipyridamole ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดวิธีหนึ่ง โดยเทียบผลที่ได้กับการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือ dipyridamole stress 99 mtechnetium sestamibi single photon emission compute tomography (dipyridamole stress MIBI SPECT) เพื่อหาว่าค่าการกระจายคิวทีจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังฉีด dipyridamole และจะมีความไวและความจำเพาะเพียงใดในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผลการวิจัยปรากฏว่า มีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นน 56 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่ม dipyridamole stress MIBI SPECT ให้ผลลบ และให้ผลบวก ค่าการกระจายคิวทีก่อนฉีด dipyridamole เท่ากับ 37.3±14.0 และ 43.3±17.4 ms ตามลำดับ และเมื่อหลังฉีด dipyridamole ค่าการกระจายคิวทีเท่ากับ 43.2±16.0 และ 59.7±25.8 ms ตามลำดับ โดยที่ค่าการกระจายคิวทีก่อนและหลังการฉีด dipyridamole ในกลุ่มที่ dipyridamole stress MIBI SPECT ให้ผลบวก จะสูงกว่าในกลุ่มที่ให้ผลลบอย่างมีนัยสำคัญ และผลต่างของค่าการกระจายคิวทีหลังและก่อนฉีด dipyridamole ในกลุ่มที่ dipyridamole stress MIBI SPECT ให้ผลบวกจะสูงกว่าในกลุ่มที่ให้ผลลบอย่างมีนัยสำคัญ (5.9±10.3, 16.5±16.8 ms, p=0.032) เมื่อใช้ ROC curve เพื่อหาค่าที่ดีที่สุดของผลต่างของค่าการกระจายคิวทีหลังและก่อนฉีด dipyridamole ในการวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พบว่าได้ค่าเท่ากับ 15 ซึ่งที่ค่านี้จะมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเท่ากับ ร้อยละ 55, 65 ตามลำดับ โดยสรุป การศึกษานี้ยืนยันว่าค่าการกระจายคิวทีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ว่าความไวและความจำเพาะในการที่จะใช้วินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไม่สูงมากนัก