Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาประวัติความเป็นมา องค์ประกอบ วิธีการแสดง จุดมุ่งหมายและความสำคัญของการละเล่นของหลวง โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ ครูผู้สอน ศิลปินผู้แสดงและนักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับการละเล่นของหลวงและสังเกตการแสดงจริง ผลการวิจัยสรุปว่า การละเล่นของหลวงเป็นมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีโสกันต์พระราชพิธีสมโภชข้างเผือก ตั้งแต่ยุคอยุธยาตอนต้น ประกอบด้วย โมงครุ่ม ระเบง กุลาตีไม้ ต่อมามีแทงวิไสยและกระตั้วแทงควายเพิ่มขึ้น มีกรมมหรสพเป็นผู้รับผิดชอบฝึกหัดและจัดแสดง ปัจจุบันพระราชพิธีมีน้อยลงการละเล่นของหลวงจึงลดน้อยลงด้วย แต่ยังคงสืบทอดอยู่ในสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร โมงครุ่มเป็นการรำประกอบการตีกลอง ระเบงเป็นการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครเดินทางไปงานโสกันต์และระหว่างทางได้พบพระกาล กุลาตีไม้เป็นการร้องเพลงประกอบการตีไม้ แทงวิไลยเป็นการรำอาวุธ กระตั้วแทงควายเป็นการแสดงเรื่องราวการล่าควายของนางกระตั้วและสามี การแสดง 3 ชุดแรกคล้ายคลึงกัน คือ ผู้แสดงเป็นชาย แต่งกายชุดเสือแขนยาวคอตั้ง นุ่งสนับเพลาและโจงกระเบนทับ คาดเอวด้วยผ้าสำรด ศีรษะสวมเทริด สถานที่แสดงแสดงทั้งบนลานกว้างหรือบนเวทีอุปกรณ์ประกอบการแสดงโมงครุ่มมีไม้กำพต กลองโมงครุ่ม ฆ้องโหม่ง ระเบงมีคันศรและลูกศร กุลาตีไม้มีไม้กำพตส่วนการแสดง 2 ชุดหลังไม่มีแสดงแล้ว จากหลักฐานต่าง ๆ กล่าวว่า แทงวิไสยแต่งกายแบบนักรบจีน เรียกว่า เชี่ยวกางผู้แสดง 2 คน ประอาวุธกัน อาวุธที่ใช้เช่น หอก ดาบ ทวน โล่ กระตั้วแทงควายใช้ผู้แสดง 3-4 คน แต่งกายเป็นชาวบ้านและควาย ออกมาแสดงการล่าควายอย่างสนุกสนาน โมงครุ่มมี 5 ท่ารำหลัก คือ ท่าเทพพนม ท่าบัวตูม ท่าบัวบาน ท่าลมพัด และท่ามังกรฟาดหาง พื้นฐานท่ารำเป็นโขนยักษ์ ระเบงมี 2 ท่ารำหลัก คือ ท่าตีลูกศรบนคันศร และท่าถือลูกศรแขนตึงระดับเอว พื้นฐานท่ารำเป็นโขนพระกุลาตีไม้มี 6 ท่ารำหลัก คือ ท่านั่งคุกเข่าตบมือ ท่านั่งคุกเข่าตีไม้ ท่าเดินตีไม้เป็นวงกลม ท่ากางแขนตีไม้ ท่าตีไม้ระหว่างคู่ และท่าตีไม้สลับบน-ล่างระหว่างคู, พื้นฐานท่ารำเป็นโขนลิง แทงวิไสยน่าจะมีลักษณะการใช้แม่ท่ารำอาวุธของไทย 5 ท่า คือ ท่านาคเกี้ยว ท่าหงส์สองคอ ท่าปลอกช้าง ท่าชิงคลอง และท่าผ่าหมาก ส่วนกระตั้วแทงควายลักษณะท่าไม่เป็นแบบแผนแต่จำแนกการแสดงได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ 1. นางกระตั้วและสามีออกตามควายจนพบ 2. นางกระตั้วและสามีไล่แทงควาย 3. นางกระตั้วและสามีวิงตามควาย การละเล่นของหลวงเป็นการแสดงที่สืบเนื่องมาเป็นเวลากว่า 650 ปี โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไม่มากนักเพราะเป็นของสูง ใช้ในพิธีหลวงที่ยึดถือรูปแบบดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุดเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นนาฏยศิลป์ที่สำคัญของชาติที่ควรรักษาไว้มิให้เสื่อมสูญ