Abstract:
ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการสร้างวัดส่งผลให้มีการก่อสร้างวัดและอาคารเสนาสนะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้น โดยขาดการควบคุมดูแลที่เหมาะสมเกิดเป็นปัญหาต่าง ๆ ทั้งในขั้นตอนการดำเนินการออกแบบและการก่อสร้าง การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาขั้นตอนการดำเนินโครงการออกแบบและก่อสร้างวัดในปัจจุบัน ศึกษาถึงปัญหา สาเหตุและข้อเสนอแนะเพื่อหาแนวทางการจัดการโครงการออกบบก่อสร้างที่เหมาะสมกับปัจจุบัน วิธีการดำเนินการวิจัยนี้ ศึกษาทฤษฎีการบริหารและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัด ศึกษาสภาพปัจจุบันการดำเนินโครงการออกแบบและก่อสร้างวัดโดยการสำรวจภาคสนามและการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1) กลุ่มนักวิชาการและผู้มีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมไทยประเภทวัด 2) กลุ่มนักวิชาการศาสนา-พระสงฆ์-เจ้าอาวาส 3)กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ สถาปนิก วิศวกร 4)กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการ จากการศึกษาพบว่า ในปัจจุบันโครงการออกแบบและก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงการออกแบบและก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมด และโครงการก่อสร้างเสนาสนะขึ้นในวัดเดิม ซึ่งดำเนินการได้โดยไม่มีการควบคุมในเรื่องการออกแบบและก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาในช่วงต่าง ๆ ของโครงการได้แก่ 1)ปัญหาช่วงเริ่มต้นโครงการได้แก่ การติดต่อหน่วยงานของรัฐ จำนวนบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ ทำให้การดำเนินงานในดูแลของรัฐทำได้ไม่ทั่วถึง 2) ปัญหาในช่วงออกแบบโครงการ ได้แก่ การออกแบบวางผัง เช่น การแบ่งเขตพุทธวาสสังฆวาสไม่ชัดเจน การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสม ความหนาแน่นของอาคาร การสร้างอาคารใหม่บดบังทัศนียภาพอาคารเดิม ฯลฯ ในเรื่องของรูปแบบสถาปัตยกรรม เช่น ความไม่เหมาะสมในการใช้ฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม การออกแบบไม่แสดงถึงเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากสถาปัตยกรรมวัดแบบประเพณี เนื่องจากกลุ่มบุคลที่เป็นผู้กำหนดทิศทางในการออกแบบคือ เจ้าอาวาส ผู้ออกแบบบ ผู้บริจาคปัจจัย ผู้ก่อสร้างและช่างท้องถิ่น มีความรู้ไม่เพียงพอที่จะออกแบบและก่อสร้างให้เหมาะสม 3)ปัญหาในช่วงการก่อสร้าง ได้แก่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง และมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตก่อสร้าง จากผลการวิจัยนี้ มีข้อเสนอแนะแนวทางการจัดโครงการออกแบบและก่อสร้างวัด โดยมีแนวทางการจัดการ 2 แนวทางคือ 1)แนวทางการส่งเสริม หน่วยงานภาครัฐควรมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบก่อสร้างวัดให้มากขึ้นและควรมีการเผยแพร่ความรู้ที่เหมาะสมในการออกแบบและก่อสร้างให้กับกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้กำหนดแนวทางขนาดและรูปแบบในการก่อสร้าง 2) แนวทางการกำกับดูแลทางด้านกฎหมาย เสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินการ และต้องมีกฎหมายควบคุมอาคารทางศาสนาในเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร โดยอาจกำหนดให้อาคารสำคัญและมีขนาดใหญ่ต้องขออนุญาตก่อสร้าง ในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมเสนอให้มีการพิจารณารูปแบบก่อนการก่อสร้างโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกับเถรสมาคมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา โดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นส่วนกลางได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑลดูแลโดยคณะกรรมการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคดูแลโดยคณะกรรมการท้องถิ่น