Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรรจากกรอบแนวคิดของไปเปอร์ ได้แก่ ระดับอัลบูมิน ระดับฮีโมโกลบิน ระยะเวลาของการใส่เครื่องช่วยหายใจ ภาวะซึมเศร้า กับความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจที่รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลศูนย์ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก และโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจที่รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักจำนวน 100 คน ที่ได้จากการเลือกแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป แบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับของ เวอแรนและสไนเดอร์-ฮาเพิร์น (The Verran and Synder-Halpern sleep scale: VSH sleep scale) ฉบับที่ได้รับการดัดแปลงโดย กันตพร ยอดใชย (2547) แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (Center for Epidemiologic Studies-Depression Scale: CESD) ของ รัดลอฟฟ์ ที่ได้รับการดัดแปลง โดย มลฤดี บุราณ (2548) และแบบประเมินความเหนื่อยล้าของไปเปอร์ (Piper Fatigue Scale) ฉบับที่ได้รับการดัดแปลง โดยเพียงใจ ดาโลปการ (2545) ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิและมีค่าความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา ครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .78, .81 และ .95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักอยู่ในระดับปานกลาง (x-bar = 5.19, S.D. = 2.59) 2. คุณภาพการนอนหลับมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.393) 3. ระดับอัลบูมิน ระดับฮีโมโกลบิน ระยะเวลาของการใส่เครื่องช่วยหายใจและภาวะซึมเศร้า ไม่มีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาใน หอผู้ป่วยหนัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05