Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาถึง นโยบาย แนวทาง และทิศทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย โดยศึกษาศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งของไทย ตลอดจนปัจจัยที่มีอิทธิพลและผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กรอบความคิดและทฤษฎีที่ใช้การศึกษาได้ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองนโยบายสาธารณะ (Public Policy) เป็นทฤษฎีหลัก ทั้งนี้ การศึกษาได้เปรียบเทียบและแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศสหรัฐอเมริกา , สหภาพยุโรป , และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงสถานภาพการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ , แนวทางการพัฒนาระบบขนส่ง , การค้าชายแดน , ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาพ รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพและนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ , การเมืองและการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศจีน, พม่า , ลาว , กัมพูชา และมาเลเซีย ผลการศึกษา พบว่า จากศักยภาพและการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่ผ่านมา รวมถึงแผนงานในอนาคต ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำน้ำโขง โดยเฉพาะด้านการขนส่งเชื่อมโยงทางถนน โดยเหตุผลสำคัญเนื่องจากทำเลที่ตั้งของประเทศไทย มีความเหมาะสมและรัฐบาลมีนโยบายและแผนงานการดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น GMS และ ACMECS ล้วนแต่เกื้อกูลและสนับสนุนต่อการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญของไทย ได้แก่ การไม่มีความเป็นบูรณาการ ในการประสานงานของหน่วยงานของรัฐ โดยเสนอแนะให้มีมีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นแกนกลางในการจัดทำและติดตามแผนงาน และโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้จะ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับความหวาดระแวงและการไม่ร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเสนอแนะให้ภาครัฐจะต้องสร้างเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน บนพื้นฐานของการใช้หลักเศรษฐศาสตร์และการเมือง โดยการให้ตวามช่วยเหลือ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และเกี่ยวกับเส้นทางขนส่ง เพื่อให้เกิดการพึ่งพาและเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการยอมรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง