Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการศึกษาเสียรภาพของข้อมูลบัญชีกับความสามารถในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเน้นศึกษาเฉพาะบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างจำนวน 74 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2537 – 2539 และ พ.ศ. 2543- 2545 ตามลำดับ ข้อมูลทุติยภูมิในการศึกษาครั้งนี้ ได้รวบรวมจากฐานข้อมูลทางการเงินของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และจากฐานข้อมูลในห้องปฏิบัติการทางการเงินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทดสอบผลกระทบจากเสถียรภาพของข้อมูลบัญชีที่มีต่อความสามารถในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นด้วยตัวแบบความถดถอยเชิงพหุระหว่างผลตอบแทนหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตัวแปรตาม และข้อมูลบัญชีซึ่งเป็นตัวแปรอิสระ นอกจากนี้ได้ใช้เทคนิคตัวแปรหุ่นสำหรับเสถียรภาพของข้อมูลบัญชีและช่วงระยะเวลา ซึ่งถือเป็นตัวแปรอิสระในตัวแบบความถดถอยเชิงพหุ ความสามารถในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น จะประมาณจากค่าสัมประสิทธิ์ความถดถอยของระดับและการเปลี่ยนแปลงในข้อมูลบัญชี โดยสรุป การทดสอบผลกระทบจากเสถียรภาพของข้อมูลบัญชีที่มีต่อความสามารถในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ในช่วงก่อนและ หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ได้ให้หลักฐานที่เหมือนกันว่ากำไรที่มีเสถียรภาพต่ำจะมีความสามารถในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ที่น้อยกว่ากำไรที่มีเสถียรภาพสูงในขณะเดียวกัน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็ไม่มีความสามารถในกาอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่ากำไรทางบัญชี ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% อย่างไรก็ตาม การทดสอบเปรียบเทียบผลกระทบจากเสถียรภาพของข้อมูลที่มีต่อความสามารถในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ ในช่วงก่อนกับหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ได้ให้หลักฐานว่า เมื่อกำไรมีเสถียรภาพต่ำ ความสามารถของกำไรทางบัญชีในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ ในช่วงก่อนและหลังวิกฤตมีความแตกต่างกัน แต่ความสามารถของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในการอธิบายผลตอบแทนหลักทรัพย์ในช่วงก่อนและหลังวิกฤตไม่แตกต่างกัน ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95%