Abstract:
การวิจัยวิเคราะห์ถึงสิทธิและพันธกรณีของประเทศภาคีในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมตามอนุสัญญาฯและความพร้อมของกฏหมายและองค์กรของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯผลการวิจัยพบว่า ประเทศภาคีอื่นๆมีสิทธิเข้าถึงฯตามอนุญญาฯแต่การเข้าถึงฯนั้นจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยในการควบคุมการเข้าถึงฯ ของประเทศเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม นอกจากนี้ประเทศเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมยังมีสิทธิอธิปไตยตามอนุสัญญาฯ กำหนดรับรองซึ่งได้แก่ สิทธิในการกำหนดให้การเข้าถึงฯ อยู่ภายใต้การตกลงร่วมกัน สิทธิในการให้ความเห็นชอบซึ่งได้แจ้งล่วงหน้าก่อนการเข้าถึงฯและสิทธิในการได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรม อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงแล้วจะพบได้ว่าผู้ที่เข้าถึงฯ ไม่ได้มีเพียงแต่รัฐเท่านั้นแต่ยังมีเอกชนซึ่งไม่มีฐานะเป็นบุคคลตามกฏหมายระหว่างประเทศ และไม่อยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญาฯด้วย ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลกระทบในการใช้สิทธิของประเทศเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมในการควบคุมการเข้าถึงฯ ใน 3 ระดับด้วยกัน คือ ระดับรัฐกับรัฐ ระดับรัฐกับเอกชน และระดับเอกชนกับเอกชน จากที่กล่าวข้างต้นจะพบได้ว่ากฏหมายและองค์กรของประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในการเข้าถึงฯอย่างมีประสิทธิภาพ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนะให้ประเทศไทยทำการปรับปรุงแก้ไข้กฎหมายและองค์กรที่ควบคุมการเข้าถึงฯ และกำหนดให้มีการทำข้อตกลงในการเข้าถึงฯ โดยคำนึงถึงฐานะตามกฎหมายของผู้เข้าถึงฯเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามพันธกรณีในการเข้าถึงฯ ตามอนุสัญญาฯ