Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ มุ่งศึกษาถึงแนวความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ และระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงข้อแตกต่างที่ส่งผลสะท้องต่อกระบวนวิธีการในการจัดตั้งการเมือง การดำเนินกิจการทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในทางการเมือง ผลการศึกษาพบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริการ ไม่มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ การรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองอาศัยเสรีภาพในการสมาคม อันถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นพื้นฐานในการจัดตั้ง ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายพรรคการเมืองรองรับการจัดตั้ง การริเริ่มในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองจึงเป็นไปโดยเสรี แต่จะมีกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมืองภายหลังการจัดตั้ง ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ถือว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองสามารถกระทำได้โดยเสรีตามที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ Basic Law ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ แม้ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันจะมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้แต่ก็ไม่มีลักษณะเนื้อหาที่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการจัดตั้งพรรคการเมือง การจัดตั้งพรรคการเมืองจึงกระทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองมีลักษณะในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ ในการดำเนินกิจการทางการเมือง ส่วนในประเทศไทย นับตั้งแต่บังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2475 แก้ไข้เพิ่มเติม พ.ศ 2495 จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2475 แก้ไข้เพิ่มเติม พ.ศ 2495 จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2540 ยกเว้นรัฐธรรมนูญในช่วงที่ปกครองภายในคณะปฏิวัติ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ โดยกำหนดให้การจัดตั้งและการดำเนินกิจการทางการเมือง อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้นจึงมีการออกกฎหมายพรรคการเมืองมาบังคับใช้ด้วยเสมอ กฎหมายพรรคการเมืองของไทยจึงมีลักษณะในการกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมือง ข้อแตกต่างของการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยเสรี โดยปราศจากการควบคุมโดยกฎหมาย ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยเสรีภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองของประเทศไทย ส่งผลโดยตรงต่อการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง กล่าวคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองควรเป็นไปโดยเสรี การควบคุมการจัดตั้งทั้งในลักษณะของการขออนุญาตจัดตั้งโดยการจดทะเบียนหรือจดแจ้งการจัดตั้งทางการเมือง หน้าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการมากกว่าประโยชน์ของประชาชน การจัดตั้งพรรคการเมืองควรเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เมื่อมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นแล้ว การควบคุมการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมือง จึงเกิดขึ้นเพื่อควบคุมให้พรรคการเมืองอยู่ในกรอบแนวทางหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อให้มีการแข่งขันกันได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยไม่มีเงื่อนไขให้การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายพรรคการเมือง นอกจากนั้นควรปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองของไทยโดยทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นโดยเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองคงมีเพียงเนี้อหาในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของพรรคการเมือง อันเป็นการช่วยส่งเสริมบทบาทของพรรคการเมือง ก็จะส่งผลสะท้องให้พรรคการเมืองในประเทศไทยมีการพัฒนาเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีความเข้มแข็งและส่งเสริมสิทธิเสรัภาพของประชาชนอย่างแท้จริง