Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพี่อศึกษาถึงปัจจัยที่ดึงดูด และอุปสรรคที่ขัดขวางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยโดยศึกษาใน3 อุตสาหกรรมย่อย คืออุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ อุตสาหกรรมทอผ้า และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยแบ่งกลุ่มนักลงทุนเป็น 3 กลุ่มตามประเทศที่เข้ามาลงทุน คือ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ Asian NIEs และกลุ่มประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล วิธีการศึกษาเป็นแบบพรรณนาความ โดยนำเอาเครื่องมือทางสถิติ การวิเคราะห์ ความแปรปรวน (ANOVA) และ Multiple Comparisons เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม มีบริษัทที่ให้ข้อมูลทั้งสิ้น 31 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ 9 บริษัท อุตสาหกรรมทอผ้า 10 บริษัท และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 12 บริษัท จากผลการศึกษาพบว่า บริษัทที่มีการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์และอุตสาหกรรมทอผ้า มีลักษณะและรูปแบบการผลิตแบบ Producer Driven Chain ในขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีลักษณะแบบ Buyer Driven Chain ในส่วนของปัจจัยดึงดูดการลงทุนโดยตรง พบว่า เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยดึงดูดในระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ปัจจัยที่พิจารณาทุกตัว ทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมให้ความสำคัญไม่ต่างกัน และเมื่อเปรียบเทียบในระหว่างกลุ่มประเทศของนักลงทุนพบว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่น จะเน้นให้ความสำคัญใน ปัจจัยด้านตลาดและทำเลที่ตั้ง ส่วนนักลงทุนจากกลุ่ม Asian NIEs จะเน้นให้ความสำคัญในปัจจัยด้านต้นทุนแรงงาน ส่วนนักลงทุนกลุ่มประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะเน้นในด้านแรงดูงใจจากทางภาครัฐ ในส่วนของอุปสรรคที่ขัดขวางการลงทุน พบว่า ประเด็นด้านการคอรัปชั่น ความล่าช้าและความซ้ำซ้อนของระบบราชการปัญหาด้านไฟฟ้า และท่าเรือ เป็นปัญหาที่นักลงทุนให้ความสำคัญมาก สำหรับการเปรียบเทียบอุปสรรคทั้งในระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม และระหว่างกลุ่มประเทศนักลงทุน พบว่าอุปสรรคที่พิจารณาส่วนใหญ่ นักลงทุนให้ความสำคัญแตกต่างกันไม่มากนัก