Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างและกลวิธีการขอร้องในภาษาไทยและภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน และความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและกลวิธีการขอร้องกับสถานภาพทางสังคมของผู้พูดผู้ฟัง ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจากการตอบแบบสอบถามจากสถานการณ์ที่กำหนดของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไทยและคนอเมริกัน จำนวนกลุ่มละ 50 คน ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างการขอร้องในภาษาไทยแบ่งเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ ส่วนหลักเพียงอย่างเดียว ส่วนหลักตามด้วยส่วนขยาย ส่วนขยายตามด้วยส่วนหลัก ส่วนขยายตามด้วยส่วนหลักและตามด้วยส่วนขยาย และส่วนขยายเพียงอย่างเดียว โดยโครงสร้างส่วนขยายตามด้วยส่วนหลักและตามด้วยส่วนขยายเป็นโครงสร้างที่ผู้พูดภาษาไทยใช้มากที่สุด ขณะนี้โครงสร้างการขอร้องในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันแบ่งได้เพียง 4 รูปแบบ คือไม่พบโครงสร้างส่วนขยายเพียงอย่างเดียว โดยโครงสร้างส่วนหลักเพียงอย่างเดียวเป็นโครงสร้างที่ผู้พูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกันใช้มากที่สุด จากข้อมูลการขอร้องจำนวน 450 ข้อความในแต่ละภาษาพบว่ามีส่วนขยายของการขอร้องในภาษาไทย จำนวน 1,094 ส่วนขยาย เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษแบบอเมริกาที่พบเพียง 488 ส่วนขยาย ผลการวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้พูดภาษาไทยให้ความสำคัญกับหน้าของผู้พูดและผู้ฟังมากกว่าผู้พูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
ส่วนกลวิธีการขอร้องนั้น ผลการวิจัยพบว่ากลวิธีการขอร้องที่พบในผู้พูดทั้ง 2 ภาษาแบ่งเป็น 3 กลวิธีใหญ่ๆ ได้แก่ กลวิธีแบบตรง กลวิธีแบบอ้อมตามธรรมเนียมปฏิบัติ และกลวิธีแบบอ้อมไม่ใช่ตามธรรมเนียมปฏิบัติ กลวิธีที่ผู้พูดภาษาไทยนิยมใช้มากที่สุดคือ กลวิธีแบบอ้อมไม่ใช่ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ในขณะที่ผู้พูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกันจะนิยมใช้กลวิธีแบบอ้อมตามธรรมเนียมปฏิบัติและกลวิธีแบบอ้อมไม่ใช่ตามธรรมเนียมปฏิบัติมากในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังพบว่าสถานภาพทางสังคมระหว่างผู้ขอร้องกับผู้ถูกขอร้องนั้น มีบทบาทต่อการใช้โครงสร้างและกลวิธีการขอร้องในภาษาไทย เช่น กรณีที่ผู้ขอร้องมีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าผู้ถูกขอร้อง ผู้พูดภาษาไทยจะนิยมใช้โครงสร้างส่วนหลักตามด้วยส่วนขยาย และใช้กลวิธีแบบตรงในปริมาณมาก อีกทั้งยังไม่นิยมใช้ส่วนขยายของการขอร้องอีกด้วย และยังพบว่าผู้พูดภาษาไทยมีการใช้โครงสร้างส่วนขยายเพียงอย่างเดียวเมื่อทำการขอร้องกับผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่า ซึ่งจะไม่พบการใช้โครงสร้างนี้ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน