Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบแรงยึดเฉือนและการรั่วซึมของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดใหม่ 2 ชนิด (วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ผลิตในประเทศไทย และ Super-Bond C&B®) กับวัสดุเคลือบหลุมร่องที่นิยมใช้งาน 2 ชนิด (Delton® 1Concise™) การศึกษาแรงยึดเฉือนใช้ฟันกรามน้อยแท้จำนวน 60 ซี่ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 15 ซี่โดยการสุ่มเมื่อยึดวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันกับผิวเคลือบฟันแล้ว นำชิ้นตัวอย่างทั้งหมดแช่ในนํ้ากลั่นที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นทดสอบแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องทดสอบสากลอินสตรอนที่ความเร็ว 0.5 มิลลิเมตรต่อนาที ผลการทดสอบด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวและการทดสอบตูกีที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า Super-Bond C&B® มิค่าเฉลี่ยแรงยึดเฉือนมากที่สุด (20.19±1.60 MPa) ต่างจากวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ผลิตในประเทศไทย (12.67±2.16 MPa), Delton® (11.98±3.24 MPa) และ Concise™ (11.60±3.44 MPa) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยวัสดุ 3 ชนิดหลังมีค่าเฉลี่ยแรงยึด เฉือนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการศึกษาการรั่วซึม ทำการเคลือบวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันลงบนฟันกรามน้อยแท้บนจำนวน 80 ซี่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามชนิดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ทดสอบ นำฟันตัวอย่างทั้งหมดแช่ในนํ้ากลั่นที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปผ่านขบวนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (จำนวน 500 รอบระหว่าง 5 กับ 55 องศาเซลเซียส รอบละ 30 วินาที) ร่วมกับการใช้สารละลายซิลเวอร์ไนเตรตเข้มข้นร้อยละ 50 โดยนํ้าหนัก จากนั้นตัดฟันเพื่อตรวจการรั่วซึมซี่ละ 3 ตำแหน่ง โดยใช้เกณฑ์ในการให้คะแนนตั้งแต่ 0-3 ตรวจการรั่วซึมด้วยทันตแพทย์ 2 คน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย 10 เท่า ผลการทดสอบด้วยสถิติไค-สแควร์และสถิติน็อนพาราเมตริกชนิดครูสคอล วอลลิส พบว่าการรั่วซึมของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันทั้ง 4 ชนิดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) แต่ Super-Bond C&B® มีแนวโน้มที่จะเกิดการรั่วซึมน้อยที่สุด และระดับการรั่วซึมของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันทั้ง 4 ชนิดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05)