Abstract:
การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องอำนาจ ภาวะผู้นำ และการสงครามของซุนจื้อและมาคิอาเวลลีนั้น ผู้ศึกษาได้ใช้งานเขียนเรื่อง "ศิลปะแห่งสงครามของซุนจื้อ" ฉบับแปลของอธิคม สวัสดิญาณ และงานเขียนเรื่อง "The Art of War" ของมาคิอาเวลลีฉบับแปลของ Allan Gilbert เป็นหลักในการศึกษาเปรียบเทียบ โดยในส่วนของมาคิอาเวลลีนั้นผู้ศึกษาได้ใช้งานเขียนอื่นๆ ของมาคิอาเวลลีเช่น The Prince และ The Discourses มาเป็นกรอบในการทำความเข้าใจและการตีความในบางประเด็นด้วย ผลของการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าแนวคิดของซุนจื้อและมาคิอาเวลลีนั้นมีความแตกต่างกันในบางประเด็นด้วยซุนจื้อเป็นนักปฏิบัติ ขณะที่มาคิอาเวลลีเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่ก็มีหลายประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกัน อย่างทัศนะในเรื่องธรรมชาติของสงครามที่เห็นพ้องว่าสงครามเป็นเรื่องของการแก่งแย่งวุ่นวายและเป็นที่มาของผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังเห็นว่าสงครามมีที่มาจากปัจจัยเดียวกันซึ่งก็คือธรรมชาติของมนุษย์ แม้ว่ามุมมองของทั้งสองอาจแตกต่างกันอยู่บ้างในจุดเริ่มต้นของความคิด แต่ก็ลงท้ายด้วยบทสรุปเดียวกัน สำหรับทัศนะในเรื่องอำนาจ ผู้ศึกษาได้อธิบายโดยแบ่งแนวคิดเรื่องอำนาจเป็นสามลักษณะได้แก่ การสูญเสียอำนาจ การขึ้นสู่อำนาจ และการรักษาอำนาจ โดยทั้งสองคนได้กล่าวถึงอำนาจในบริบทสงคราม ทั้งนี้มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ทว่าที่มาแห่งการสูญเสีย การขึ้นสู่ และการรักษาอำนาจนั้นกลับเป็นสิ่งเดียวกันนั่นก็คือการมีคุณธรรม (virtu) หรือความรู้ความเข้าใจในศิลปะแห่งสงครามและความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้อย่างรอบคอบ เพราะหากขาดหรือด้อยในศิลปะแห่งสงครามย่อมทำให้สูญเสียอำนาจ ตรงกันข้ามการมีศิลปะแห่งสงครามย่อมทำให้ได้มาซึ่งอำนาจได้เช่นกัน ขณะเดียวกันหากมีแต่ไม่พัฒนาความรู้ในศิลปะแห่งสงครามก็จะไม่สามารถรักษาอำนาจนั้นไว้ได้นาน ในเรื่องภาวะผู้นำนั้น นำเสนอในประเด็นการจัดการภายในกองทัพของผู้นำ ซึ่งทั้งสองมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องระดับของผู้นำ โดยมาคิอาเวลลีจะเน้นไปที่ผู้ปกครองรัฐเป็นหลัก ขณะที่ซุนจื้อกลับให้ความสำคัญที่ตัวแม่ทัพมากกว่า อย่างไรก็ตามทั้งสองก็ยังมีความเห็นที่ตรงว่าหากผู้นำทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการไม่เข้าใจในศิลปะแห่งสงครามอย่างถ่องแท้แล้ว ก็ไม่สามารถจะนำพากองทัพไปสู่เป้าหมายซึ่งก็คือชัยชนะได้นั่นเอง จากการศึกษายังทำให้พบว่าอำนาจทางการทหารนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่ออำนาจการเมืองโดยเฉพาะในบริบทสงครามหรือในสภาวะการณ์ทางการเมืองที่มีความวุ่นวาย ดังนั้นเราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการศึกษาอำนาจทางการทหารได้ เพราะอำนาจทางการทหารนั้นสามารถเป็นได้ทั้งปัจจัยที่เสริมแรงและอุปสรรคที่กีดขวางการมีอำนาจทางการเมือง