Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างและกลไกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517 ตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในความเป็นจริงภายใต้บริบททาง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผลการศึกษาพบว่า การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้สภาพการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความกดดันไดๆ ในระหว่างการร่าง เพียงแต่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา เนื่องจากประชาชนต้องการให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ในการร่างรัฐธรรมนูญได้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่งมาเป็นแนวทางการพิจารณา และในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นไปยังผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันมาก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนี้อหาเป็นประชาธิปไตยตามแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม โดยได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้อย่างกว้างขวาง และได้วางรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภาแบบสองสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งส่วนสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีบันทึกพระราชกระแสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฯ สรุปได้ว่า ทรงไม่เห็นด้วยเพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงเลือกตั้ง และแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย อันเป็นการขัดหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้จึงมีการแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้วางโครสร้างและกลไกให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยมาตรการส่งเสริมระบบพรรคการมืองที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคกรเมือง และได้เพิ่มเติมองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญศาลปกครอง ศาลในสาขาแรงงาน สาขาภาษี และสาขาสังคม ผู้ตรวจเงินแผ่นดินรัฐสภา เป็นต้น แต่ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับองค์การเหล่านี้บ้างก็ยังจัดตั้งไม่สมบูรณ์บ้างก็ยังม่ได้จัดตั้ง ภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ปรากฏว่า เกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก และผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค อันมีผลทำให้รัฐบาลขาดเสถึยรภาพ และโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ห้ามข้าราชการประจำเป็นข้าราชการเมืองและกำหนดเงื่อนไขอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี จึงส่งผลให้กลุ่มข้าราชการประจำอันเป็นกลุ่มอำนาจที่มีฝังรากลึกอยู่กับขนบประเพณีการปกครองของไทยมาแต่โบราณ และกลุ่มการเมืองใหม่ คือ กลุ่มนักศึกษาประชาชน ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านระบบรัฐสภา ประกอบกับความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างเสรีนิยมและสังคมนิยม ทำให้สังคมไทยเกิดการแตกแยกอันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพกันอยู่เสมอ และท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์สุกงอมคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินก็ใช้เป็นเหตุในการรัฐประหารล้มเลิกรัฐธรรมนูญ