Abstract:
วิทยานิพนธ์มุ่งศึกษาถึงการกระทำอันเป็นการล่วงเกินทางเพศ (Sexual Harassment) ว่ามีลักษณะการกระทำและผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำอย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันปรากฎการณ์การล่วงเกินทางเพศได้มีและปรากฏต่อสภาพสังคมมากขึ้น หากแต่มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้มีบัญญัติอยู่เฉพาะแต่ในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งคุ้มครองเฉพาะผู้ที่มีฐานะเป็นลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงและเป็นเด็ก นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามเฉพาะผู้กระทำที่มีฐานะเป็นนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานเท่านั้น จึงมีปัญหาว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการล่วงเกินทางเพศตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับดังกล่าวบัญญัติไว้ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมการล่วงเกินทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า การล่วงเกินทางเพศเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในทางเพศ โดยผู้กระทำอาศัยโอกาสในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่ทำให้มีอำนาจเหนือ หรือมีอิทธิพลครอบงำผู้ถูกกระทำเพื่อกระทำการดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ แต่ไม่สามารกหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับผลกระทบหากปฏิเสธหรือไม่ยอมตอบสนอง อันทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด กดดัน ต้องเสียสุขภาพจิต สุขภาพกาย อาจต้องลาออกจากงาน ทำให้เกิด ความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจทั้งต่อตัวผู้ถูกกระทำและองค์กรหน่วยงาน อย่างไรก็ดี บทบัญญัติที่บังคับใช้ในประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันมีลักษณะและองค์ประกอบความผิดไม่ครอบคลุมถึงการล่วงเกินทางเพศ ส่วนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ได้กำหนดให้การล่วงเกินทางเพศถือเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ซึ่งผู้ถูกกระทำจะได้รับการเยียวยาด้วยการได้รับค่าสินไหม ทดแทน นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่รับผิดในการกระทำของผู้ควบคุมงานหรือลูกจ้างต่อลูกจ้างคนอื่น ด้วย (Vicarious liability) ส่วนในประเทศญี่ปุนถือว่าการล่วงเกินทางเพศเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในการได้รับการทำงานในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม โดยผู้ถูกกระทำจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งยังกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดในการล่วงเกินทางเพศของผู้ควบคุมงานหรือลูกจ้างต่อลูกจ้างคนอื่นเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีเพียง ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นที่กำหนดให้การล่วงเกินทางเพศเป็นการกระทำผิดทางอาญาซึ่งผู้กระทำจะต้องได้รับโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 ฟรังค์ จากการที่การล่วงเกินทางเพศเป็นพฤติกรรมที่รัฐน่าจะต้องมีมาตรการในการควบคุมการกระทำดังกล่าวเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองบุคคลเป็นการทั่วไป ไม่จำกัดอยู่เฉพาะบุคคลตามกฎหมายแรงงานและเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีขอประชาชน ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้มีการบัญญัติความผิดฐานล่วงเกินทางเพศเข้าไว้ในประมวลกฎหมายอาญาด้วย