Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาบทบาทของการเซ่นไหว้ และความเชื่อทางศาสนา ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเซ่นไหว้ ศึกษาระบบสัญลักษณ์ในการเซ่นไหว้ และเข้าใจระบบคิดของผู้ไหว้ในการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลโดยการสังเกตการณ์อย่างไม่มีส่วนร่วม และอย่างมีส่วนร่วม และทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเพื่อที่จะนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นมาเขียนวิเคราะห์ โดยแบ่งกรณีศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ พระและบุคคลที่มีความรู้ในรายละเอียดเกี่ยวกับการเซ่นไหว้ ศาสนา และความเชื่อเป็นอย่างดี กลุ่มที่สองคือ ผู้ที่มาประกอบพิธีกรรมเครื่องเซ่นไหว้ที่วัดมังกรกมลาวาส (เฉพาะกรณีที่มีเครื่องเซ่นไหว้มากกว่าการนำธูปเทียนมา) เพศหญิง 5 คน เพศชาย 5 คน อายุ 35 ปีขึ้นไป และได้ประกอบพิธีกรรมเครื่องเซ่นไหว้ที่วัดมังกรกมลาวาสอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ผลการศึกษาพบว่า ในการศึกษาเรื่องพิธีกรรมเครื่องเซ่นไหว้และความเชื่อทางศาสนา มี ความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยผู้คนที่นำเครื่องเซ่นไหว่ไปที่วัดมังกรกมลาวาสนั้นต่างมีความศรัทธาและความคาดหวัง บางคนมีความคาดหวังในความสบายใจในการนำสิ่งของต่าง ๆ มาทำพิธีเซ่นไหว้ โดยมีความเชื่อว่า เมื่อนำของไปเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เป็น มงคลแก่ตนเองและครอบครัว สามารถปกป้องผองภัยให้พ้นภยันตรายได้ มีความสุขทางด้านจิตใจ ยิ่งเมื่อประสบกับความสำเร็จ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นผลให้ความเชื่อมั่นในความคาดหวังมีเพิ่มมากขึ้นกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่นำเครื่องเซ่นไหว้มาไหว้ตอบแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ๆ ให้ดลบันดาลให้สมหวังในสิ่งที่ขอ หรือพันจากความทุกข์ในเรื่องต่าง ๆ และในที่สุดเมื่อสมหวังในสิ่งที่ได้บนบานไว้นั้น จึงนำของมาเซ่นไหว้ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นการตอบแทน ผลการศึกษายังพบอีกว่า พิธีกรรมเครื่องเซ่นไหว้ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกิดจากความเชื่อและจากประสบการณ์ของมนุษย์ที่สร้างสมมายาวนาน หากความเชื่อถือมีความมั่นคงมากขึ้น และประสบการณ์ตรงได้เห็นเป็นประจักษ์ว่า สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจได้ ผู้คนก็จะทำพิธีกรรมเครื่องเซ่นไหว้ต่อไป