Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาการกระจายอำนาจของธาตุอาหารไนเตรด ไนไตรด์ แอมโมเนีย ฟอสเฟต ซิลิเคต และโลหะปริมาณน้อยแคดเมียม ตะกั่ว สังกะสี ของแม่น้ำเจ้าพระยา และบางปะกงใน 2 ฤดู คือ ฤดูน้ำมากและฤดูน้ำน้อย ธาตุอาหารที่พบในแม่น้ำเจ้าพระยามีความเข้มข้นสูงกว่าในแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะในฤดูน้ำมากพบว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าสูงมาก อันน่าจะเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเพื่อการเกษตรกรรมในบริเวณลุ่มน้ำตอนบน โลหะปริมาณน้อยที่พบในทั้งสองแม่น้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปตะกอนแขวนลอย และปริมาณที่พบในทั้งสองแม่น้ำก็ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่โลหะปริมาณน้อยที่พบในตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีค่าสูงกว่าตะกอนของแม่น้ำบางปะกงโดยเฉพาะตะกอนที่เก็บมาจาก บริเวณราษฎร์บูรณะ พระประแดง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก จากการกำหนดสถานีใกล้ปากแม่น้ำแล้วทำการเก็บตัวอย่างให้ครบวงจรน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเปรียบเสมือนการทดลองผสมน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำเค็มจากทะเลพบว่า ปริมาณธาตุอาหารในแม่น้ำเจ้าพระยาจะแสดงพฤติกรรมคอนเซอเวทีฟ คือ ลดลงเมื่อความเค็มเพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรง แต่ในแม่น้ำบางปะกงมองเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ชัดเจนนัก อันเนื่องมาจากการกำหนดสถานีที่ศึกษาในแม่น้ำบางปะกงไม่เหมาะสมคือ อยู่ใกล้ตลาดจึงได้รับอิทธิพลจากชุมชนในบริเวณนั้น โลหะปริมาณน้อยนั้น พบว่า ในแม่น้ำเจ้าพระยาความเข้มข้นของโลหะในตะกอนแขวนลอยมีค่าสูงเมื่อน้ำมีความเค็ม < 10% ส่วนในแม่น้ำบางปะกงจะพบในน้ำที่มีความเค็ม <2% ซึ่งความเค็มดังกล่าวจะเลื่อนขึ้นลงตามลำน้ำขึ้นกับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงและฤดูกาล ดังนั้นการตกตะกอนของโลหะปริมาณน้อยย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดลำน้ำที่น้ำทะเลเข้าถึง ซึ่งเห็นได้จากปริมาณโลหะในตะกอนที่มีค่าค่อนข้างสูงตลอดลำน้ำ