Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาวิพากษ์ทฤษฎีเสถียรภาพอันเกิดจากการค้ำจุนโดยประเทศเจ้ามหาอำนาจ ในประเด็นของการสร้างกฎกติการะหว่างประเทศ โดยใช้ การเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นกรณีศึกษา สมมติฐานของวิทยานิพนธ์คือ “เขตการค้าเสรีอาเซียนเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยประเทศมหาอำนาจผู้ครองความเป็นเจ้าเป็นหลักในการก่อตั้ง” ผลการศึกษาได้ข้อสรุปตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ ในขณะที่ทฤษฎีเสถียรภาพอันเกิดจากการค้ำจุนโดยประเทศเจ้ามหาอำนาจอธิบายการเกิดของกฎกติการะหว่างประเทศว่า กฎกติการะหว่างประเทศจะเกิดขึ้น ได้ต้องมีประเทศเจ้ามหาอำนาจที่มีขีดความสามารถ ทำหน้าที่ตรวจสอบ และบังคับ ให้รัฐต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎ กติการ่วมกัน อันจะทำให้ระบบความสัมพันธ์ และ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้กฎกติกานั้น ๆ มีเสถียรภาพ จากการวิจัยพบว่า เขตการค้าเสรีอาเซียนเกิดขึ้นได้ในปี ค.ศ. 1992 เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบ และบังคับใช้กฎกติการะหว่างประเทศด้วยกันเอง โดยมีการประสานงานกันทั้ง ในระดับหัวหน้ารัฐบาลไปจนถึงคณะทำงานในระดับล่าง ซึ่งเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนร่วมมือกันจัดตั้ง กฎกติกาการค้าเสรีกันได้มีอยู่ 3 ประการ 1. ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็ต้องการใช้เขตการค้าเสรีเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกเหนือจากความคาดหวังในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน 2. การมองเห็นประโยชน์จากการร่วมมือกัน ในสภาวการณ์การแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการค้าในปัจจุบัน ทำให้ประเทศในกลุ่มต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก 3. การที่อาเซียนประกอบด้วยสมาชิกไม่มาก และใช้หลักการประนีประนอมในการกำหนดนโยบายร่วมกัน ทำให้ความขัดแย้งไม่เกิดขึ้นมากนักแม้ว่าความร่วมมือจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าก็ตาม