Abstract:
“การจับ” เป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมากไม่เพียงแต่กระทบต่อชื่อเสียง หน้าที่การงาน เสรีภาพในความเป็นอยู่เท่านั้น แต่รัฐยังจะต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในการใช้เลี้ยงดูผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่กระนั้นก็ตามเพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยเรียบร้อย มีหลักประกันว่าในการพิจารณาพิพากษาคดี ตลอดจนการลงโทษจะมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ด้วยเสมอ รัฐจึงมีความจำเป็นต้องจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดไว้และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจจับและควบคุมตัวผู้กระทำความผิดได้จะต้องปรากฎว่ามีกฎหมายของรัฐบัญญัติให้อำนาจไว้ เช่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางในการบริหารงานยุติธรรมทางอาญาจากรูปแบบควบคุมอาชญากรรม (Crime Control) เป็นรูปแบบนิติธรรม (Due Process ) ทำให้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิเปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดปัญหา ในด้านการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้ง ป.วิ.อาญา ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ขัดแย้งหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เช่น ป.วิ.อาญา ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้มีอำนาจออกหมายจับได้ เป็นต้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้เขียนได้เสนอแนวทางในการร่าง ป.วิ.อาญา ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายบรรลุผลควบคู่ไปกับการธำรงค์ไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มีมาแต่โดยธรรมชาติไม่ให้ถูกล่วงละเมิดไปจนเกินควร โดยมีวัตถุประสงค์สูงสุดที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของสังคม