Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างของวรรณกรรมนิทาน จักรๆ วงศ์ๆ ของไทย ตามแนวทฤษฎีโครงสร้างของวลาดิมีร์ พรอพพ์ นักคติชนวิทยาชาวรัสเซียผู้วิจัยได้นำวรรณกรรมนิทานของภาคต่าง ๆ จำนวน ๖๑ เรื่อง มาวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างของวรรณกรรมนิทานแต่ละภาค และสรุปโครงสร้างหลักของวรรณกรรมนิทานไทยโดยรวม วรรณกรรมนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ของไทย อาจแบ่งโครงเรื่องออกได้เป็น ๓ โครงเรื่อง คือ โครงเรื่องแบบที่ ๑ เรื่องเริ่มที่ตัวละครวัยเด็ก โครงเรื่องแบบที่ ๒ เรื่องเริ่มที่ตัวละครวัยหนุ่มและโครงเรื่องแบบที่ ๓ เรื่องเริ่มที่ตัวเอกมีภรรยาอยู่แล้ว ทั้งนี้ วรรณกรรมนิทานของบางภาคอาจมีโครงเรื่องครบทั้ง ๓ โครงเรื่อง คือ ภาคกลาง และภาคใต้ และบางภาคอาจมีเพียง ๒ โครง เรื่องเท่านั้น คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อนำตอนต่าง ๆ ในโครงเรื่องแต่ละแบบมารวมกันจะได้ลำดับตอนในวรรณกรรมนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ โดยรวมดังนี้ ตอนวัยเด็ก ตอนได้นาง ตอนได้นางครั้งที่สอง และตอนกลับเมือง ผลการวิจัยสรุปได้ว่า วรรณกรรมนิทานของแต่ละภาคมีโครงสร้างหลักที่รองรับและกำหนดลำดับพฤติกรรมและการดำเนินเรื่องของนิทาน และเมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างหลักของวรรณกรรมนิทานแต่ละภาค พบว่ามีโครงสร้างร่วมกัน อันทำให้สามารถสรุปลักษณะของโครงสร้างหลักของวรรณกรรมนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ของไทยโดยรวมได้โครงสร้างหลักของนิทานไทยนี้ประกอบด้วยพฤติกรรมและการลำดับพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของนิทานไทยที่ไม่เหมือนกับโครงสร้างหลักของนิทานรัสเซียที่พรอพพ์ใช้ ทำให้สรุปได้ว่านิทานในแต่ละวัฒนธรรมมีโครงสร้างหลักที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองที่กำหนดการดำเนินเรื่องของนิทาน เช่นเดียวกับที่ภาษาแต่ละภาษามีไวยากรณ์เป็นของตน