Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์ระบบเสียงภาษาคะฉิ่น จากระบบการเขียนที่เป็นอักษรโรมัน ระบบเสียงภาษาคะฉิ่นของผู้พูดภาษาคะฉิ่นที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ความแตกต่างระหว่างระบบเสียงทั้งสองระบบ และเสนอระบบการเขียนภาษาคะฉิ่นโดยใช้อักษรไทย ภาษาคะฉิ่นในงานวิจัยนี้ หมายถึง ภาษาจิงเผาะ ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า สาขาย่อยคะฉิน ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้เก็บจาก ผู้บอกภาษาที่เป็นผู้พูดภาษาคะฉิ่นที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย โดยผู้บอกภาษาเป็นเพศหญิง 1 คนและเพศชาย 1 คนอายุระหว่าง 20-25 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการสัมภาษณ์ขณะเก็บข้อมูล คือ รายการคำศัพท์ 1,074 คำ และเก็บจากหนังสือแบบเรียนภาษาคะฉิ่นที่เป็นอักษรโรมัน 3 เล่ม ผลการวิจัยสรุปเนื้อหาสำคัญได้ดังนี้ ระบบเสียงภาษาคะฉิ่นที่วิเคราะห์จากระบบการเขียนที่เป็นอักษรโรมัน ประกอบด้วย หน่วยเสียงพยัญชนะ 22 หน่วยเสียง พยัญชนะควบกล้ำ 18 ชุด หน่วยเสียงสระ 8 หน่วยเสียงสระประสม 3 ชุด และไม่สามารถวิเคราะห์หน่วยเสียงวรรณยุกต์ได้ ส่วนระบบเสียงภาษาคะฉิ่นของผู้พูดภาษาคะฉิ่นที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ประกอบด้วย หน่วยเสียงพยัญชนะ 24 หน่วยเสียงพยัญชนะควบกล้ำ 13 ชุด หน่วยเสียงสระ 10 หน่วยเสียงและหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 4 หน่วยเสียงเมื่อเปรียบเทียบระบบเสียงทั้งสองระบบพบว่า ระบบเสียงทั้งสองระบบมีความแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างเนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการคือ 1) เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาษาคะฉิ่นอันเนื่องมาจากการสัมผัสภาษากับภาษาไทย 2) การวิเคราะห์ในระดับสหวิทยาของผู้วิจัย ระบบการเขียนภาษาคะฉิ่นโดยใช้อักษรไทยสร้างขึ้นจากระบบเสียงภาษาคะฉิ่นของผู้พูดภาษาคะถิ่นที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย โดยใช้หลักเกณฑ์การผสมผสานระหว่างแนวคิด phonerme-based script และระบบการเขียนภาษาไทย