Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณค่าและความสำคัญของอรรถกถาชาดกในฐานะเป็นวรรณคดี คำสอนของไทย และศึกษาความสัมพันธ์กับวรรณคดีคำสอนเรื่องอื่น ผลของการศึกษาสรุปว่า คนไทยรู้จักอรรถกถาชาดกอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยทวารวดีมาแล้วและมีภาพสลักลายเส้นรวมทั้งคำอธิบายประกอบภาพชาดกในสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์มีอรรถกถาชาดกที่รู้จักแพร่หลายและมีชื่อเสียงมากคือ เวสสันดรชาดกและทศชาติเรื่องอื่น ๆ อรรถกถาชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติ 547 เรื่องได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2483 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตัวบทอรรถกถาชาดกจึงเป็นคาสนนิทานที่คนไทยรู้จักมานานและเป็นวรรณคดีไทยที่ได้ต้นเรื่องจากภาษาบาลี อรรถกถาชาดกมีสาระคำสอนที่ไม่ได้มุ่งเป็นคำสอนแก่บรรพชิต แต่มุ่งสอนคนทั่วไปทุกระดับตั้งแต่ชนชั้นปกครองจนถึงทาส และมีเนื้อหาคำสอนครอบคลุมถึงการปฏิบัติตนและการปฏิบัติต่อผู้อื่น ซึ่งประกอบด้วยคำสอนที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตและคำสอนปลีกย่อย คำสอนที่เป็นหลักสำคัญได้แก่ หลักในการดำเนินชีวิต การปฏิบัติตนต่อผู้อื่นการครองเรือน การปกครองและการรับราชการ สาระคำสอนเหล่านี้ตรงกับสาระในวรรณคดีคำสอนของไทย อรรถกถาชาดกยังมีลักษณะเด่นในด้านการสร้างเรื่องเพื่อสอนโดยเฉพาะการแสดงหลักธรรมที่เป็นเรื่องเปรียบเทียบหรือเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเป็นนิทานสาธกในวรรณคดีคำสอนเรื่องอื่น อรรถกถาชาดกจึงมีความสำคัญต่อวรรณคดีคำสอนของไทย และจัดเป็นวรรณคดีคำสอนของไทยเรื่องหนึ่ง อรรถกถาชาดกมีคุณค่าและความสำคัญต่อวรรณคดีไทยหลายด้าน ได้แก่ ด้านที่เป็นวรรณคดีคำสอน ซึ่งเป็นแหล่งรวมคำสอนที่เน้นให้ประพฤติตนเป็นคนดีและให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนในสังคม อันสอดคล้องกับหลัก "กรรม" ของพุทธศาสนา คำสอนดังกล่าวได้อบรมกล่อมเกลาจริยธรรมแก่คนทุกระดับในสังคมไทยด้วยกลวิธีการสอนแบบนิทาน อรรถกถาชาดกยังมีคุณค่าในด้านที่เป็นต้นแบบของวรรณคดีชาดกที่แต่งในประเทศไทย รวมทั้งชาดกพื้นบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งรูปแบบและเนื้อหาการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ และยังมีความสำคัญในด้านที่มีอิทธิพลต่อองค์ประกอบของวรรณคดี โดยเฉพาะเนื้อเรื่อง อนุภาคต่าง ๆ และตัวละครให้แก่การสร้างสรรค์วรรณคดีไทยอีกด้วย อรรถกถาชาดกนับเป็นวรรณคดีคำสอนของไทย ที่อธิบายความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม อย่างเป็นเหตุและผล ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิดและความเชื่อของคนในสังคมไทยมาตลอดจนถึงปัจจุบัน