Abstract:
การศึกษาค้นคว้านี้มุ่งวิเคราะห์บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งใช้ในการป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยนำกฎหมายของต่างประเทศตลอดจนร่างอนุสัญญาและข้อแนะนำขององค์การสหประชาชาติที่จัดทำขึ้นเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมาวิเคราะห์ประกอบ องค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) คือกลุ่มของบุคคลที่รวมตัวกันเข้าเพื่อกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบในการบังคับบัญชาที่เป็นลำดับขั้นและเป็นความลับ รูปแบบในการประกอบอาชญากรรมจะมีความซับซ้อน ไม่ทิ้งพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสืบสวนได้โดยง่ายตลอดจนมีเครือข่ายในการดำเนินงานทั้งในและนอกประเทศ การที่จะจัดการกับองค์กรอาชญากรรมได้อย่างเด็ดขาดจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อตัวขององค์กรอาชญากรรม หัวหน้าองค์กรอาชญากรรม และทรัพย์สินขององค์กรอาชญากรรม โดยใช้กฎหมายที่มีลักษณะพิเศษ แต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อรองรับการกระทำความผิดที่เกิดจากองค์กรอาชญากรรม แม้จะมีมาตรการพิเศษรบังคับใช้ในพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาอยู่บ้างเช่น ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด การค้าหญิงและเด็ก และการฟอกเงิน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอที่จะดำเนินการกันองค์กรอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมเกิดสัมฤทธิผล จำเป็นที่รัฐจะต้องบัญญัติกฎหมายทั้งในส่วนสารบัญญัติและสบัญญัติให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อใช้กับองค์กรอาชญากรรมโดยเฉพาะโดยควรนำหลักการสมคบกันกระทำความผิด มาตรการริบทรัพย์ทางอาญา-ทางแพ่ง การมีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐทำการดักจับข้อมูลทางโทรคมนาคม การให้ความคุ้มกันพยานผู้ร่วมกระทำผิด มาปรับใช้ในการจัดการกับองค์กรอาชญากรรม นอกจากนี้รัฐควรสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการดังกล่าวด้วย