Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ ประการที่หนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจความเป็นอื่นที่เกิดขึ้นของเด็กต่างชาติที่ถูกทำร้าย ท่ามกลางการนิยามความแตกต่างที่นำไปสู่การปฏิบัติต่อเด็ก ประการที่สอง ศึกษาการสร้างกลไกในการต่อสู้เพียงลำพังของเด็กต่างชาติเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำร้าย ประการสุดท้ายศึกษากระบวนการปรับตัว ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กต่างชาติหลังจากได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและสังเกตแบบมีส่วนร่วม ศึกษาประวัติชีวิตผ่านการเล่าเรื่องของเด็กต่างชาติที่ถูกทำร้าย 7 กรณี ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า 1. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างในแต่ละช่วงการดำเนินชีวิตของเด็กต่างชาติ สภาพครอบครัวและสถานะทางเศรษฐกิจผลักดันให้เด็กต่างชาติต้องเดินทางมาทำงานยังประเทศไทย เมื่อเด็กอยู่ในประเทศไทยความเป็นอื่นของเด็กต่างชาติเหล่านี้ถูกกำหนดและสร้างขึ้นโดยกระบวนการสร้างความหมาย ความรู้ ความจริง ผ่านวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายว่าเป็นผู้ร้าย เป็นตัวปัญหา สร้างความไม่มั่นคงให้กับประเทศได้ในระยะยาว วาทกรรมว่าด้วยความเป็นอื่นดังกล่าว นำไปสู่การปฏิบัติต่อเด็กต่างชาติ ในรูปแบบการเลือกปฏิบัติที่ตอกย้ำความไม่ใช่คนไทย ซึ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ขึ้นในที่สุด 2. การสร้างกลไกในการต่อสู้ดิ้นรนของเด็กต่างชาติให้รอดพ้นจากการโดยทำร้าย อาศัยการหลบหนีออกจากสถานการณ์เพื่อให้ความหมายของความเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายถูกลบออก และหลุดพ้นจากความเจ็บปวด 3. การศึกษาในครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าบริบทของชุมชนหรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีการแยกขั้วทางจิตสังคมและทำให้เด็กต่างชาติไม่รู้สึกแปลกแยก จะทำให้กระบวนการปรับตัว ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้รวดเร็วขึ้น