Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โครงสร้าง กลไกและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในความเป็นจริงโดยศึกษาจากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ผลการศึกษาพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 นั้นได้เกิดขึ้นภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจัดทำในระยะเวลาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามผู้นำฝ่ายทหารได้หมดอำนาจทางการเมืองและพลเรือนเข้ามามีบทบาทแทนบทบัญญัติและกลไกมีความเป็นประชาธิปไตย เช่น มีระบบรัฐสภา 2 สภา มีเสรีภาพในการรวมตัวเป็นพรรคการเมือง มีองค์กรตุลาการรัฐธรรมนูญ การแบ่งแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง แต่เจตนารมณ์เบื้องหลังการจัดทำเป็นการกำจัดบทบาทอำนาจของทหารมิให้กลับมามีอำนาจอีกโดยการกำหนดให้ห้ามข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมืองซึ่งเป็นเหตุให้ทหารไม่พอใจและเข้าทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2490 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ได้จัดทำขึ้นโดยคณะรัฐประหารที่เป็นนายทหารนอกประจำการเนื่องจากความไม่พอใจที่ทหารถูกดูหมิ่นจากพลพรรคเสรีไทยเป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีเนื้อหาถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์อย่างมาก สืบเนื่องจากกรณีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 สวรรคตโดยไม่ทราบสาเหตุ และคณะรัฐประหารต้องการความชอบธรรมจึงนำสถาบันกษัตริย์มาอ้างอิงในการทำรัฐประหาร ดังนั้นรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่สถาปนาระบบรัฐสภาอำนาจคู่ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบทั้งต่อพระมหากษัตริย์และรัฐสภาซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของประเทศไทยที่สถาปนาระบบรัฐสภาแบบนี้ ภายหลังการรัฐประหารคณะรัฐประหารมิได้เข้าจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเองเนื่องจากปัญหาการยอมรับจากต่างประเทศและข้อครหาการทำรัฐประหารเพื่อต้องการอำนาจในการปกครองประเทศจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศและต่อมารัฐบาลได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยฝ่ายรัฐบาลหวาดกลัวว่าถ้าเนิ่นช้าคณะรัฐประหารจะเป็นฝ่ายจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งจะไม่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยซึ่งในที่สุดมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2492 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ผลการศึกษาทำให้ทราบว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญในยุคสมัยต่างๆ เกิดจากการที่ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นได้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองรวมทั้งเป็นการจำกัดบทบาทของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยมีเนื้อหาให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน