Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ ศึกษาบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการสอบสวน การจับกุม การตรวจค้น การออกหมายจับ การควบคุม และการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นอำนาจที่เด็ดขาดไม่มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ การศึกษาใช้การดำเนินการวิจัยเอกสารเป็นหลัก และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนายความ ประชาชน และนักวิชาการ สรุปผลได้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเช้าสู่ความเป็นสากล การยอมรับหลักนิติธรรม (Rule of Law) มีความสำคัญและจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และจะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขหนึ่งที่นานาชาติจับตามองก็คือ กระบวนการยุติธรรมของไทย ให้ความเป็นธรรมเพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับหลักมนุษยชนหรือไม่ ดังนั้นการที่มีองค์กรอื่นไม่ว่าจะจะเป็นศาล พนักงานอัยการ ทนายความ และประชาชนอื่น ๆ เข้ามาตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อจะให้เป็นไปตามหลักการสากลที่นานาประเทศยอมรับ และเป็นหลักประกันว่ากระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของตำรวจจะให้ความเป็นธรรมที่เพียงพอตามมาตรฐานที่นานาประเทศยอมรับ คือ มีลักษณะโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อที่จะเอื้ออำนวยเกื้อหนุนให้กระบวนการยุติธรรม ดำเนินไปได้ก็คือ จะต้องมีการสนับสนุนปัจจัยทางด้านการบริหารในส่วนต่าง ๆ เพื่อที่จะเอื้ออำนวย ให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล