Abstract:
การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีความตระหนักและแก้ไขมาตลอด ซึ่งโดยทั่วไปมักใช้มาตรการบังคับและควบคุม มาตรการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนในการจัดการกับการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศมากอย่างเช่นโรงไฟฟ้า คือมาตรการการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซ การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า การใช้มาตรการการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซนี้ จะช่วยลดต้นทุนรวมในการบำบัดมลพิษทางอากาศได้ การศึกษานี้มุ่งไปที่การคำนวณหาสวัสดิการสังคมรวม เปรียบเทียบการใช้มาตรการบังคับและควบคุมโดยตรง กับมาตรการการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซนี้ โดยใช้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มาเป็นกรณีศึกษา ในการวิเคราะห์หาสมการถดถอย 3 สมการ อันไค้แก่ สมการการผลิต สมการการปล่อยก๊าซ และสมการอุปสงค์ ใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2541 เมื่อใดสมการถดถอยทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงนำสมการเหล่านี้เข้าสู่แบบจำลอง เพื่อหาดุลยภาพการผลิตที่ทำให้ได้กำไรสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดอัตราผลได้ แล้วนำไปหาสวัสดิการสังคมรวมต่อไป โดยแบ่งการหาดุลยภาพเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ใช้มาตรการบังคับและควบคุมโดยตรง และกรณีที่ใช้มาตรการการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซ ปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวแปรที่สำคัญ 2 ตัว คือ อัตราการติดตั้งเครื่องบำบัดก๊าซ ณ อัตราพื้นฐาน และสัดส่วนการค้าใบอนุญาต ณ อัตราพื้นฐาน ผลการศึกษาพบว่า เมื่อมีการบังคับให้ติดตั้งเครื่องบำบัดก๊าซ ณ อัตราพื้นฐานเต็มที่ 100% จะทำให้สังคมไค้รับสวัสดิการสูงสุด สำหรับผลการคำนวณของมาตรการการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซพบว่า สวัสดิการสังคมจะสูงสุดก็ต่อเมื่อรัฐบาลกำหนดให้มีการติดตั้งเครื่องบำบัดเต็มที่ 100% แล้วปล่อยให้มีการค้าใบอนุญาต ณ อัตราพื้นฐานเพียง 70% แต่เมื่อดูผลโดยรวมแล้วสวัสดิการ สังคมเฉลี่ยจะสูงกว่าหากไม่มีการติดตั้งเครื่องบำบัดเลย แล้วปล่อยให้มีการค้าใบอนุญาตอยู่ในช่วง 30 - 90% ส่วนการเปรียบเทียบการใช้มาตรการทั้งสองชนิด พบว่า มาตรการการค้าใบอนุญาตให้สวัสดิการสังคมที่สูงกว่า ด้วยต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ต่ำกว่ามาตรการบังคับและควบคุมโดยตรงในทุกกรณี ทั้งนี้ หน่วยการผลิตที่มีต้นทุนการบำบัดก๊าซต่ำกว่าจะเป็นผู้ขายใบอนุญาต และกระทำการบำบัดก๊าซของตนเองในสัดส่วนที่มากขึ้น สำหรับหน่วยการผลิตที่มีต้นทุนการบำบัดก๊าซที่สูงกว่าจะเป็นผู้ซื้อใบอนุญาตและทำการบำบัดก๊าซในสัดส่วนที่ลดลง