Abstract:
การศึกษาภาวะน่าสบายที่มีมาในอดีตส่วนใหญ่ เป็นการวิจัยในห้องปฏิบัติการภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อมซึ่งไม่ว่าจะควบคุมอย่างไรก็ต่างกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมักเป็นการวิจัยในเขตหนาวแห้ง ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศแตกต่างจากเขตร้อนชื้นค่อนข้างมาก การที่จะกำหนดอิทธิพลของตัวแปรในการทำนายสภาวะน่าสบายของคนในเขตภูมิอากาศร้อนขึ้นได้โดยผลการวิจัยที่ผ่านมา เนื่องจากตัวแปรที่เกิดขึ้นเป็นตัวแปรที่ปรากฏตามธรรมชาติมีความแตกต่างกัน การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรที่มีผลต่อภาวะน่าสบาย และการกำหนดขอบเขตความสบายอันเนื่องมาจากตัวแปรต่าง ๆ ที่ปรากฏในสภาพแวดล้อมของเขตร้อนชื้น แนวทางการวิจัยเป็นรูปแบบที่ทำการศึกษาค้นคว้าจากสภาพภูมิอากาศจริง โดยวิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งได้จัดเก็บข้อมูลโดยมีการเปรียบเทียบความถูกต้อง จากการควบคุมที่อาศัยการเก็บข้อมูลการตอบคำถามของกลุ่มตัวอย่างการตอบคำถามของผู้วิจัยและการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมไปพร้อมกัน ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้น เก็บข้อมูลจากสถานที่ทั้งที่มีการปรับอากาศและไม่มีการปรับอากาศข้อมูลที่ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ค่าความด้านทานความร้อนของเครื่องแต่งกาย และข้อมูลสภาพแวดล้อมคืออุณหภูมิอากาศความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และอุณหภูมิการแผ่รังสีความร้อนเฉลี่ยจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ คือ การวิเคราะห์ สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์การถดถอย ผลการวิจัยพบว่า ในการตรวจสอบสภาวะน่าสบายของคนที่อยู่ในสถานที่ไม่ปรับอากาศที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีค่าความต้านทานความร้อนเท่ากับค่าเฉลี่ยของคนไทยหรือ 0.5 clo ได้อุณหภูมิสบายคือ 28.06 °C เมื่อมีการแผ่รังสีความร้อนน้อย ความเร็วลมต่ำ ในขณะที่อุณหภูมิสบายของคนที่อยู่ในสถานที่ปรับอากาศ ในกิจกรรมการพักผ่อนจะอยู่ที่ประมาณ 24.7 ° c ในเงื่อนไขเดียวกัน และจากการวิเคราะห์การถดถอยโดยใช้ตัวแปรหุ่น ทำให้ได้สมการทำนายความรู้สึกร้อนหนาว เมื่ออยู่ในสภาพปรับอากาศ Y = -3.013 +0.416*clo +0.147*DB +0.006*Rh+0.085*MRT-0.695*wind เมื่ออยู่ในสภาพไม่ปรับอากาศ Y = -3.851+0.416 *clo+0.147*DB+0.006*Rh+0.085*-MRT-0.625wind สรุปได้ว่ามีความแตกต่างของอุณหภูมิสบายในสถานที่ปรับอากาศและไม่ปรับอากาศอย่างมีนัยสำคัญโดยแตกต่างกันถึง 3.3 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้อุณหภูมิสบายก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นด้วย เช่น ความเคยชินในสภาพอากาศก็เป็นสาเหตุหนึ่ง และพบว่าความเร็วลมภายนอกถึงแม้ว่าจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่มีผลต่อความรู้สึกร้อนหนาวได้ การวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นสถานที่พักผ่อน ซึ่งสามารถใช้การระบายอากาศแบบธรรมชาติได้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยไม่เกิน 28 °c ในขณะที่ความเร็วลมและปัจจัยอื่นเป็นไปตามธรรมชาติ