Abstract:
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ปัญญัติให้มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาพิเศษขึ้นเพื่อบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และบุคคลผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพี่อลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ ซึ่งมีปัญหาที่ต้องพิจารณาถึงอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการพิจารณาพิพากษาคดีกับบุคคลผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนว่าจะมีอยู่หรือไม่ เพียงใด เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นกระบวนการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอน ซึ่งเริ่มต้นจากการดำเนินการทั้งหลายของเจ้าพนักงานนอกศาลและในศาล รวมตลอดถึงการดำเนินการทั้งหลายของศาลจนถึงพิพากษาคดี ถ้าจุดเริ่มต้นในการดำเนินคดีแก่บุคคลผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ซึ่งมิใช้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างถูกต้องแล้ว อำนาจในการดำเนินการต่าง ๆ ของเจ้าพนักงานและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นและมีอยู่ตลอดไปจนลิ้นสุดกระบวนการ ดังนั้น แม้ว่าศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษายกฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาบุคคลผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนต่อไปได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือความเสมอภาคภายใต้กฎหมายแต่อย่างใด แต่กลับจะเป็นการทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาพิเศษนี้ใช้บังคับได้อย่างมิประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป