Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและความหมายของคำว่า "อยาก" ในเชิงประวัติ โดยใช้ข้อมูลเอกสารที่พิมพ์และเผยแพร่แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน มีสมมติฐาน คือ "อยาก" มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างและความหมายจากการแสดงความหมายหลักในประโยค เป็นการแสดงอรรถานุเคราะห์ ผลการวิจัยสอดคล้องกับสมมติฐาน กล่าวคือ “อยาก” มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและ ความหมายโดยในข้อมูลสมัยสุโขทัย “อยาก” เป็นคำกริยา มีหน้าที่แสดงความหมายหลักในประโยคว่า “หิว กระหาย” และ “ไม่มีจะกิน” ในคำว่า “อดอยาก” ต่อมาในข้อมูลสมัยรัชกาลที่ ๓ “อยาก” เริ่มปรากฎใน ปริบทที่กว้างขึ้น โดยปรากฏร่วมกับคำกริยารูปธรรมคำว่า “อยาก” จึงมีหน้าที่ขยายคำกริยาหลักในประโยค และมีความหมายแสดงอรรถานุเคราะห์ว่า “ต้องการ” เพิ่มขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นอกจาก “อยาก” จะ ปรากฏร่วมกับกริยารูปธรรมหลายตัวในกริยาวลีแล้ว ยังพบ “อยาก” ปรากฏร่วมกับกริยานามธรรม และ พบว่า “อยาก” และ “อดอยาก” ปรากฏร่วมกับคำว่า “ความ” ผ่านกระบวนการกลายเป็นคำนาม จากคำกริยา กลายเป็นคำนามว่า “ความอยาก” และ “ความอดอยาก” ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๗ พบการปรากฏ ของ “อยาก” ที่มีความหมายว่า “ต้องการ” และ “ความอยาก” ที่มีความหมายว่า “ความต้องการ” ในข้อมูล เพิ่มจากช่วงสมัยสุโขทัย - รัชกาลที่ ๓ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับพบว่า “อยาก” ที่เป็นคำกริยา มี ความหมายว่า “หิว กระหาย” พบในจำนวนที่น้อยลง และไม่พบการปรากฏเลยในข้อมูลสมัยปัจจุบัน ดังนั้น ในข้อมูลสมัยปัจจุบันจึงพบเฉพาะ “อยาก” เป็นคำขยายกริยา มีความหมายแสดงอรรถานุเคราะห์ว่า “ต้องการ” และ “ความอยาก” เป็นคำนาม มีความหมายว่า “ความต้องการ”