Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางชายแดนไทยและมาเลเซีย ที่ลดลงด้วยการยุติยุทธการผสม/ร่วมทางทหารในการปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มลายา ในช่วงปี ค.ศ. 1980-1988 ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย โดยมีสมมติฐานว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ประกอบกับปัญหาที่เกิดจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รวมทั้งนโยบายที่ขัดแย้งกันระหว่างไทยและมาเลเซีย ในปัญหาโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการยุติยุทธการผสม/ร่วมทางทหาร โดยงานวิจัยนี้ได้อาศัยแนวคิดการเมืองเกี่ยวพัน (linkage politics) ของ James N. Rosenau มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่า ภายใต้ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางชายแดนไทยและมาเลเซียที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมานั้น รูปแบบยุทธการทางทหารที่ไทยใช้ร่วมกับมาเลเซียในการปราบปราม โจรคอมมิวนิสต์มลายาที่เป็นศัตรูร่วมกัน คือ ยุทธการผสม/ร่วม แต่ในปี ค.ศ. 1981 ไทยได้ยุติยุทธการผสม/ร่วมลงโดยสิ้นเชิง และหันไปใช้ยุทธการฝ่ายเดียวและยุทธการประสานแทน การยุติยุทธการผสม/ร่วมดังกล่าว เกิดจากปัจจัยหลายประการทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยโดยที่ปัจจัยภายในมาจากการแผ่ขยายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.) อีกทั้งการที่รัฐบาลนำนโยบายใหม่มาใช้ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศ ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ นโยบายของมาเลเซียต่อโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งผลที่ได้ดังกล่าวเป็นคำตอบที่ตรงกับสมมติฐานและสอดคล้องกับกรอบการวิเคราะห์ในการวิจัย