Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาแนวคิดทุนทางสังคม มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาวาทกรรม "ทุนทางสังคม" ในสังคมไทยจากมุมมองสังคมวิทยาความรู้ 2) เพื่อวิพากษ์แนวคิดในฐานะที่เป็นแนวคิดการพัฒนาใหม่ของประเทศไทย 3) เพื่อวิเคราะห์กรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นวาทกรรมทุนทางสังคมในบริบทสังคมไทย โดยศึกษาแนวคิดและปฏิบัติการภายใต้บริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการศึกษาเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์บุคคลที่สนใจและ/หรือมีอิทธิพลต่อการรับแนวคิดเรื่องทุนทางสังคมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ รวมทั้งมีการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลการศึกษาโดยใช้แนวทางการวิเคราะห์วาทกรรม ผลการศึกษาพบว่า ประการที่หนึ่ง การนำศัพท์คำว่า "ทุนทางสังคม" (Social Capital) ที่ถูกนำมาใช้แตกต่างกันสืบเนื่องมาจากฐานคิดที่แตกต่างกัน โดยตัวแนวคิดเองแล้วเป็นแนวคิดที่กล่าวถึง "ความสัมพันธ์ทางสังคม" ในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการร่วมมือของคนในสังคม สามารถมีความหมายทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่ม การนำคำว่าทุนทางสังคมมาใช้ในสังคมไทยมีพลวัตของความหมายจนเปลี่ยนไปเป็น "การเป็นทุนของสังคม" ซึ่งทำให้เกิดการรวมเอาแนวคิดอื่นๆ เช่น ทุนวัฒนธรรม ทุนธรรมชาติ ทุนภูมิปัญญา มาเป็นองค์ประกอบของทุนทางสังคมด้วย โดยเห็นว่าการพัฒนาทุนทางสังคมจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประการที่สอง แนวคิดทุนทางสังคมมีฐานะเป็นแนวคิดเชิงบูรณาการที่ภายใต้การผสานแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กับสังคมวิทยามาโต้ตอบต่อการดำเนินนโยบายการพัฒนากระแสหลักที่มุ่งเน้นในเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป ประการที่สาม จากกรณีศึกษา เรื่องกองทุนหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล และกรณีปัญหาความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากร แสดงให้เห็นข้อขัดแย้งด้านความคิดระหว่าง หน่วยงานรัฐบาล นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และนักพัฒนา โดยหน่วยงานรัฐบาลได้ให้ความหมายของทุนทางสังคมอิงกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ฝ่ายนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และนักพัฒนาก็พยายามที่จะให้ความหมายของทุนทางสังคมโดยอิงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การช่วงชิงการเป็นเจ้าของวาทกรรมทุนทางสังคมทั้งแนวคิดและปฏิบัติการดังกล่าวจะพิจารณาได้ว่าเชื่อมโยงกับเรื่องผลประโยชน์และอำนาจ โดยความคิดเกี่ยวกับ "ระบบคุณค่า" และ "มูลค่า" ปรากฏในปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นอย่างค่อนข้างชัดเจน