Abstract:
การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบจำนวนอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มของผู้ป่วยศัลยกรรมและความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ ก่อนและหลังใช้โปรแกรมการบริหารความเสี่ยง กลุ่มตัวอย่างมี 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยศัลยกรรม จำนวน 871 คน และพยาบาลประจำการ จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง คือ โปรแกรมการบริหารความเสี่ยง แบบสังเกตพฤติกรรมการบริหารความเสี่ยงของพยาบาลประจำการ แบบบันทึกจำนวนอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มของผู้ป่วยศัลยกรรม และแบบสอบถามความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ เครื่องมือการวิจัยทั้งหมดได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และตรวจสอบความเที่ยงของแบบสังเกตพฤติกรรมการบริหารความเสี่ยงของพยาบาลประจำการ และแบบสอบถามความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .93 และ .88 ตามลำดับ การเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มของผู้ป่วยศัลยกรรม และความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ ครั้งที่ 1 และ 2 ห่างกัน 1 เดือนก่อนดำเนินการทดลอง หลังจากนั้นพยาบาลประจำการ 34 คน เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากการพลัดตกหกล้ม โดยร่วมกันพัฒนาโปรแกรมการบริหารความเสี่ยง และนำโปรแกรมการบริหารความเสี่ยงไปใช้เป็นเวลา 1 เดือน จึงประเมินจำนวนอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มของผู้ป่วยศัลยกรรม และความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ หลังดำเนินการทดลองครั้งที่ 3 และนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ด้วย ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบซี และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.จำนวนอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มของผู้ป่วยศัลยกรรม หลังใช้โปรแกรมการบริหารความเสี่ยง ต่ำกว่าก่อนใช้โปรแกรมการบริหารความเสี่ยง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 2.ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ หลังใช้โปรแกรมการบริหารความเสี่ยง สูงกว่าก่อนใช้โปรแกรมการบริหารความเสี่ยง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 จากผลการวิจัยแสดงว่า โปรแกรมการบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพในการทำให้อุบัติการณ์ พลัดตกหกล้มของผู้ป่วยศัลยกรรมลดลง และเพิ่มความพึงพอใจของพยาบาลประจำการ