Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้กล่าวถึง ''ปัญหาเกี่ยวกับการสื่ออารมณ์และความรู้สึกของดนตรีบรรเลง” เมื่อกล่าวถึงคำว่าดนตรี เราอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากล” ซึ่งการกล่าวเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าดนตรีสามารถมีฐานะเป็นเสมือนภาษากลางที่ใช้สื่อสารให้คนทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน แต่ในความเป็นจริงการสื่อสารด้วยภาษาต่าง ๆ นั้นเราต้องยอมรับว่าการเข้าใจ สิ่งที่ภาษาสื่อออกมาได้ตรงกันนั้น เป็นความเข้าใจของกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมเดียวกันและมีการเรียนรู้เหมือนกันจึงจะสามารถเข้าใจได้ตรงกัน แต่สำหรับดนตรีคือเสียงที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างกันไปตามทำนองเพลง ดังนั้นการเข้าใจความหมายทางอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในท่วงทำนองของดนตรีนั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคมและวัฒนธรรม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงต้องการแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการสื่ออารมณ์และความรู้สึกของดนตรีบรรเลง กล่าวคือแม้ว่าดนตรีบรรเลงจะมีการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกผ่านทางทำนองต่าง ๆ ออกมาได้จริง แต่ความเช้าใจอารมณ์และความรู้สึกที่มีอยู่ใน ท่วงทำนองนั้นจะเกิดขึ้นอย่างตรงกันก็ต่อเมื่อผู้ฟังเป็นคนที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน ถ้าหากผู้ฟังอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกที่อยู่ในดนตรีอาจแตกต่างกันไป เพราะการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามสังคมและแต่ละวัฒนธรรม ดังนั้นการกล่าวว่า ดนตรีมีฐานะเป็นภาษาสากลที่สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้ฟังเข้าใจตรงกันนั้นจึงไม่น่าจะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง