Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการลงทุนและการบริหารของอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ดำเนินการโดยต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ในอุตสาหกรรมสนับสนุนของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษา แบ่งเป็น การศึกษาลักษณะการลงทุนและการบริหารงานของอุตสาหกรรมสนับสนุน การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน และการศึกษาแนวโน้มและการปรันตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุน วิธีการศึกษาใช้การวิเคราะห์ขอมูลเชิงพรรณนา (Descriptive Method) แบ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมินำเสนอรูปแบบการลงทุน ร่วมทุน การจ้างงาน และโครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมสนับสนุนโดยพิจารณาโครงสร้างตามปัจจัยการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ถูกกำหนดโดยพลังผลักดันทั้ง 5 (Five Competitive Force: Porter) และข้อมูลปฐมภูมิได้จากการสัมภาษณ์กิจการของต่างชาติในอุตสาหกรรมนำเสนอเป็นกรณีศึกษา 8 บริษัท ผลการศึกษาพบว่ากิจการในอุตสาหกรรมสนับสนุนเกือบทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม รูปแบบการลงทุนมีทั้งลงทุนรายเดียวและร่วมทุน การจ้างงานส่วนมากอยู่ในข่วง 50-300 คน การลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มนักลงทุนจากชาติเดียวกัน และตั้งโรงงานใกล้นิคมอุตสาหกรรมของผู้ว่าจ้างผลิตหรือลูกค้า ผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้างผลิตมีบทบาทชี้นำโครงสร้างการแข่งขันและการเข้าแข่งขันของกิจการใหม่จากกรณีศึกษาบริษัท 8 แห่งสามารถสรุปรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนของต่างชาติได้ดังนี้ แบบที่หนึ่ง การลงทุนโดยกลุ่มนักลงทุนไต้หวันที่มีความได้เปรียบด้านการครอบครองเทคโนโลยี (Technology-led investment strategy) แบบที่สอง การลงทุนโดยกลุ่มนักลงทุนสิงคโปร์ที่มีความสามารถในการจัดการและการบริหารรวมถึงการแสวงหาโอกาสและสิทธิพิเศษจากการลงทุน (Managerial Skill led investment strategy :with business opportunity seeking) และแบบที่สาม การลงทุนโดยกลุ่มนักลงทุนในเครือข่ายของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Global sourcing and supply chain networking strategy) ซึงเป็นรูปแบบการลงทุนของเกาหลีใต้