Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนทางจริยศาสตร์ในมโนทัศน์เรื่องมิตรภาพของอริสโตเติล เพื่อชี้ให้เห็นว่าความคิดพื้นฐานเรื่องตัวตนที่ได้จากมโนทัศน์เรื่องมิตรภาพของอริสโตเติล มีนัยอย่างสำคัญต่อจริยศาสตร์สตรีนิยมอย่างไร ข้าพเจ้าชี้ให้เห็นว่าตัวตนที่อ่านได้จากคำอธิบายเรื่องมิตรภาพ เป็นตัวตนทางจริยศาสตร์ที่อยู่ในความสัมพันธ์ มีความเปราะบางไม่พอเพียงในตัวเอง เป็นตัวตนในบริบทเฉพาะ และเป็นตัวตนที่ไม่มีการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างอารมณ์และเหตุผล เราจะเห็นว่าตัวตนในแบบที่อริสโตเติลกล่าวถึง เมื่อเขาพูดถึงมิตรภาพมีนัยที่ทำให้การแบ่งแยกพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวอย่างเด็ดขาดเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากจริยศาสตร์สตรีนิยมมีความคิดพื้นฐานอยู่ที่การวิพากษ์วิธีคิดทางจริยศาสตร์ที่สะท้อนระบบผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งนักสตรีนิยมชี้ให้เห็นว่าความคิดแบบนี้เป็นพื้นฐานของการแยกแบ่งทวินิยม ข้าพเจ้าจึงเสนอว่าความเข้าใจเรื่องตัวตนในแบบของอริสโตเติล ที่ได้จากมโนทัศน์เรื่องมิตรภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นตัวตนในอีกแบบหนึ่งที่ไม่ถูกจำกัดโดยวิธีคิดแบบทวินิยม มีนัยสำคัญ และเป็นแรงบันดาลใจต่อความคิดทางจริยศาสตร์สตรีนิยม ข้าพเจ้าชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจตัวตนในแบบที่เป็นองค์รวม ซึ่งเห็นได้ในอริสโตเติล มีประโยชน์ต่อสตรีนิยมเพราะนอกจากจะเป็นตัวส่องสะท้อนให้เห็นลักษณะที่ไม่เป็นธรรมชาติของวิธีคิดทวินิยมแบบกระแสหลัก ซึ่งเคยถือกันว่าเป็นธรรมชาติแล้ว วิธีเข้าใจตัวตนแบบที่เป็นองค์รวมในทฤษฎีของอริสโตเติลยังเป็นการขยายความในสิ่งที่นักสตรีนิยมพยายามจะพูด ที่สำคัญก็คืออริสโตเติลได้พูดถึงตัวตนทางจริยศาสตร์ที่มีความฉลาดทางจริยธรรม ซึ่งวิธีคิดแบบนี้แสดงให้เห็นความสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างอารมณ์และเหตุผล พื้นที่ส่วนตัวและ พื้นที่สาธารณะ ข้าพเจ้าสรุปว่าวิธีเข้าใจตัวตนในแบบอริสโตเติล และวิธีที่อริสโตเติลอธิบายการทำงานของอารมณ์ในการตัดสินทางจริยธรรม เป็นการสนับสนุนและต่อเติมข้อโต้แย้งของนักจริยศาสตร์สตรีนิยม