Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อศึกษาที่ตั้งและการกระจายตัวของสถาบันอุดมศึกษาและกิจกรรมที่ต่อเนื่อง และศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อชุมชนในพื้นที่ โดยได้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.ชุมชนซึ่งสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ 2. พื้นที่ขยายตัวด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร 3. กรุงเทพมหานคร และ 4. พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศ การวิจัยใช้วิธีการเก็บข้อมูลรายจ่ายของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามประเภทและพื้นที่ใช้จ่ายโดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถาม จากการลุ่มตัวอย่างจากนักศึกษา บุคลากรและประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมา วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายของประชากรที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้ค่ามูลค่าเพิ่ม จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต เพี่อหาการกระจายรายได้ ซึ่งนำมาคำนวณค่าตัว คูณทวีตามทฤษฎีฐานเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชุมชนในพื้นที่ขยายตัวด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร ผลการวิจัยพบว่า ที่ตั้งและการกระจายตัวของสถาบันอุดมศึกษาและกิจกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ขยายตัวด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร มีการกระจุกตัวตามแนวถนนพหลโยธินและถนนรังสิต-นครนายก โดยมีการปะปนกันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปตามแนวความคิดของภาคมหานครที่ขยายตัวออกไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการขยายตัวของพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรม โครงการหมู่บ้านจัดสรร และสถาบันอุดมศึกษา สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในรูปของรายได้เกิดขึ้นในย่านรังสิตมากที่สุด รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร และในชุมชนซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา โดยประเภทการใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้มากที่สุดได้แก่ อาหาร ที่พักอาศัย ของใช้ทั่วไปและการพักผ่อนหย่อนใจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจทีเกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในชุมชน ได้แก่ การพัฒนาย่านการค้าและที่พักอาศัยขึ้นอย่างไม่เป็นระเบียบในบริเวณที่ติดกับมหาวิทยาลัย การใช้พื้นที่ปะปนกันระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นระเบียบของการจราจรในพื้นที่