Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อโอกาสในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อประเมินว่าประเทศที่มีโอกาสสูงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกัน เป็นประเทศที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจอย่างไร หลังจากนั้นจะทำการประเมินความสอดคล้องว่าคู่ประเทศที่มีโอกาสสูงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี เป็นคู่ประเทศที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการสร้างปริมาณการค้ามากกว่าการเบี่ยงเบนทางการค้าหรือไม่ เพื่อเป็นการสนับสนุนว่าคู่ประเทศที่มีโอกาสสูงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี จะเป็นคู่ประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างมากจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การศึกษายังครอบคลุมถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เพื่อประเมินยุทธศาสตร์และผลกระทบจากการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทย ภาพรวมของการศึกษาทั้งหมดในครั้งนี้ พบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อโอกาสในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของประเทศตัวอย่าง ได้แก่ ระยะทางระหว่างประเทศคู่ค้า ขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความใกล้เคียงกันของรายได้ต่อหัวของทั้งสองประเทศ ความแตกต่างของความอุดมสมบูรณ์ในปัจจัยการผลิต และสัดส่วนของมูลค่าการค้าที่ทั้งสองประเทศมีต่อกัน นอกจากนี้ ผลการประมาณค่าโอกาสในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของคู่ประเทศต่าง ๆ จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติ พบว่าคู่ประเทศที่มีโอกาสสูงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกัน ส่วนใหญ่เป็นคู่ประเทศที่มีลักษณะสอดคล้องกับเงื่อนไขที่จะทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเกิดประโยชน์ ในกรณีของประเทศไทย พบว่าไทยมีโอกาสสูงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับประเทศที่มีระยะทางใกล้เคียงกันหรืออยู่ในภูมิภาคเดียวกัน มีระดับรายได้ต่อหัวไม่แตกต่างกันมาก หรือเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เป็นต้น และจากการศึกษาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับประเทศดังกล่าว ให้ผลการศึกษาว่าจะทำให้สวัสดิการโดยรวมของไทยและประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว ซึ่งผลการศึกษามีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีของไทย