Abstract:
การติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) พบมากแถบประเทศในเขตร้อน โดยทั่วไป การติดเชื้อซีโรไทป์ใดซีโรไทป์หนึ่ง ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อซีโรไทป์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันข้ามซีโรไทป์ได้เพียงชั่วคราว และเมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่สองด้วยซีโรไทป์ที่แตกต่างจากครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง อาจมีการแสดงออกของโรคที่รุนแรงเป็น dengue hemorrhagic fever (DHF) หรือ dengue shock syndrome (DSS) นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากหลายประเทศ ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มากกว่าหนึ่งซีโรไทป์พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า การติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มากกว่าหนึ่งซีโรไทป์ ชักนำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้มากกว่าการติดเชื้อแบบหนึ่งซีโรไทป์หรือไม่ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงศึกษาการติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบสองซีโรไทป์พร้อมกันในเซลล์เพาะเลี้ยง โดยเปรียบเทียบความแตกต่างของการเกิด cytopathic effect (CPE) และปริมาณไวรัส ระหว่างการติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบหนึ่งและสองซีโรไทป์พร้อมกัน ผลการวิจัยพบว่า การติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบสองซีโรไทป์พร้อมกันทำให้เซลล์เกิด CPE ได้รวดเร็วกว่าการติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบหนึ่งซีโรไทป์ และสามารถตรวจพบแอนติเจนของไวรัสเดงกีในการติดเชื้อแบบหนึ่งซีโรไทป์ได้ด้วยวิธี Immunocytochemistry เมื่อเวลาผ่านไปนาน 2 วัน หลังจากที่เซลล์เพาะเลี้ยงติดเชื้อไวรัสเดงกี ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบสองซีโรไทป์พร้อมกันนั้นตรวจพบได้ เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 24 ชั่วโมง และทำการตรวจยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกีในเซลล์จากอาหารเลี้ยงเซลล์ด้วยวิธี RT-PCR ในการตรวจหาปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัสเดงกี จากกลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบหนึ่งซีโรไทป์และสองซีโรไทป์พร้อมกัน ในช่วงเวลา 1 – 6 หลังจากที่เซลล์เพาะเลี้ยงติดเชื้อไวรัสเดงกี ด้วยวิธี qRT-PCR พบว่า ปริมาณไวรัสเดงกีซีโรไทป์ 2 มีมากกว่าซีโรไทป์ 3 ทั้งในกลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบหนึ่งและสองซีโรไทป์พร้อมกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จึงสรุปได้ว่าการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มากกว่าหนึ่งซีโรไทป์พร้อมกัน ชักนำให้เซลล์เกิดพยาธิสภาพที่รวดเร็วกว่าการติดเชื้อไวรัสเดงกีแบบซีโรไทป์เดียว แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีความสอดคล้องกับระดับความรุนแรงของอาการทางคลินิกหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป