Abstract:
ความต้องการการแพทย์ทางเลือก (Complementary and Alternative Medicine: CAM) เพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นเดียวกับการแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine: TTM) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะยาวต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข แต่การส่งเสริมการใช้ TTM ถูกจำกัดโดยการแพทย์แผนปัจจุบันที่เป็นกระแสหลักของระบบสุขภาพในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการยอมรับ TTM ของแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการใช้ TTM แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประเมินอย่างเหมาะสมด้วยเครื่องมือสำรวจที่มีมาตรฐาน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบนำร่องด้วยแบบสอบถามมาตรฐานในการเข้าถึงการยอมรับและการใช้ TTM/CAM ของแพทย์เฉพาะทางในประเทศไทย โดยทำการวิจัยแบบผสมผสานเชิงสำรวจบุกเบิก ประกอบด้วยการวิเคราะห์อภิมาน การสัมภาษณ์เชิงลึก การพัฒนาและทดสอบแบบสอบถาม และการทดสอบนำร่องด้วยแบบสอบถามมาตรฐานในแพทย์เฉพาะทางภายใต้ 8 ราชวิทยาลัยในประเทศไทย ผลการวิเคราะห์อภิมานจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2545 - 2560 จำนวน 1,924 เรื่อง มีบทความที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 25 เรื่อง พบว่าความชุกของการยอมรับการแพทย์ทางเลือกของแพทย์เฉพาะทางด้วยโมเดลแบบสุ่มมีค่าเท่ากับร้อยละ 54 (95% CI: 36%-73%) และความชุกของการยอมรับการแพทย์ทางเลือกที่มีค่าสูงที่สุดคือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตามด้วย จิตแพทย์และแพทย์ประสาทวิทยา ประสาทศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู อายุรแพทย์ และศัลยแพทย์ แบบสอบถามการยอมรับและการใช้ TTM/CAM ของแพทย์เฉพาะทางที่พัฒนาขึ้นมีทั้งหมด 3 ตอน รวม 78 ข้อ มีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (IOC มีค่าตั้งแต่ 0.50 ขึ้นไป) และมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามในระดับดีมาก (Cronbach’s Alpha เท่ากับ 0.96) ปัจจัยการยอมรับ TTM/CAM จากการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านกิจกรรม ด้านมุมมองเชิงบวก และด้านมุมมองเชิงลบ ซึ่งการวิเคราะห์กลุ่มแฝงแสดงให้เห็นว่าแพทย์เฉพาะทางสามารถจัดกลุ่มตามประเภทของผู้ยอมรับการแพทย์ทางเลือกจำนวน 4 กลุ่มคือ ผู้ปฏิบัติด้านการแพทย์ทางเลือก ผู้แนะนำการแพทย์ทางเลือก ผู้สนับสนุนการแพทย์ทางเลือก และผู้ไม่สนับสนุนการแพทย์ทางเลือก การทดสอบนำร่องในแพทย์เฉพาะทางจำนวน 243 คน จาก 8 ราชวิทยาลัยแสดงให้เห็นถึงรูปแบบต่าง ๆ ในการยอมรับและการใช้ TTM/CAM จากแต่ละสาขาของแพทย์ โดยแบบสอบถามการยอมรับและการใช้ TTM/CAM สามารถใช้ในการสำรวจระดับประเทศในแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการส่งเสริมการใช้ TTM/CAM ทั้งในประเทศไทยและสถานที่อื่น ๆ