Abstract:
การวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาการตีตราระหว่าง หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีวัยรุ่นและวัยอื่น และปัจจัยที่มีผลต่อการตีตราในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบผสม (Mixed-method) มี 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยแบบตัดขวาง (cross-sectional study) ทำการเก็บข้อมูลในหญิงตั้งครรภ์อายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือหญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ลูกอายุไม่เกิน 5 ขวบ ใช้แบบสอบถาม 5 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการมีเพศสัมพันธ์และการตีตรา ประวัติการติดเชื้อเอชไอวี การตีตราจากการติดเชื้อเอชไอวี 40 ข้อ และแบบสอบถามเผชิญ 36 ข้อ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Multiple linear regression ระยะที่ 2 เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก 16 คน เป็นกลุ่มวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 5 คน และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีวัยอื่นจำนวน 11 คน
การศึกษาระยะที่ 1 ประชากรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 222 คน เป็นวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 68 คน และหญิงตั้งครรภ์วัยอื่นที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 154 คน ผลการศึกษาพบว่าอายุเฉลี่ยของวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี 18.44 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.57) อายุเฉลี่ยของวัยอื่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี 29.95 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 6.15) อายุเฉลี่ยทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.001) ข้อมูลการตีตราในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีพบว่า ในวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีคะแนนการตีตราน้อยกว่าในหญิงตั้งครรภ์วัยอื่นที่ติดเชื้อเอชไอวี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.024) และ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนการตีตรา ได้แก่ อายุตอนตั้งครรภ์ แหล่งที่มาของรายได้ การฝากครรภ์ ระยะเวลาการติดเชื้อเอชไอวี และการเปิดเผยผลเลือด การศึกษาระยะที่ 2 ทำการศึกษาโดยสัมภาษณ์เชิงลึก 16 คน ผลการศึกษาพบว่าข้อมูลสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม
วัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีการตีตราน้อยกว่าหญิงตั้งครรภ์วัยอื่นที่ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนในครอบครัวทำให้ก้าวผ่านปัญหาไปได้ ส่วนในวัยอื่นจะกังวลการเปิดเผยผลเลือด กลัวสามีหรือคนในครอบครัวรับไม่ได้ ทำให้ไม่กล้าที่จะเปิดเผยผลเลือดให้คนอื่นรับรู้