Abstract:
การหกล้มเป็นปัญหาสาธารณสุขในผู้สูงอายุที่เกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยง การคัดกรองความเสี่ยงโดยใช้หลายเครื่องมือร่วมกันเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดในการป้องกันการล้ม แต่ยังมีข้อพิสูจน์ความแม่นยำค่อนข้างน้อย การศึกษาตามรุ่นไปข้างหน้านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขั้นตอนวิธีการคัดกรองความเสี่ยงต่อการหกล้ม และทดสอบความตรงเชิงพยากรณ์ในระยะ 1 ปี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุในจังหวัดนครราชสีมา อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทำการศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 – ธันวาคม พ.ศ. 2562 ขั้นตอนวิธีการคัดกรองความเสี่ยงแบ่งเป็น 2 ส่วน ขั้นตอนแรกคัดกรองโดยใช้แบบประเมินคัดกรองความเสี่ยง Thai-SIB 18 ข้อ มีวิธีประเมิน 3 รูปแบบหลัก 2 รูปแบบย่อย ขั้นตอนที่ 2 คัดกรองโดยการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย 4 วิธี ประเมินผลลัพธ์ 7 รูปแบบ ประเมินผลลัพธ์รวมจากหลักการคัดกรองแบบใช้หลายเครื่องมือร่วมกันแบบอนุกรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Cox proportional hazard model ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พยากรณ์ความแม่นยำจากพื้นที่ใต้โค้ง ค่าความไว และความจำเพาะ
ผลการศึกษา พบว่า ขั้นตอนวิธีการคัดกรองด้วยการซักประวัติ 3 คำถาม ร่วมกับทดสอบสมรรถภาพร่างกายด้วย Time Up and Go test (TUG) เป็นขั้นตอนวิธีการที่มีความไวมากที่สุดร้อยละ 71.6 (95% CI: 63.6, 78.7) และให้ค่า False negative น้อยที่สุดร้อยละ 28.4 ส่วนการใช้แบบประเมิน Thai-SIB 6 ข้อ ร่วมกับ TUG มีความจำเพาะมากที่สุด ร้อยละ 94.0 (95% CI: 90.8, 96.3) เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการหกล้มและควบคุมปัจจัยรบกวนแล้ว ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงมีโอกาสหกล้มสูงมาก [10.43 เท่า (95% CI: 6.85, 15.90) และ 13.39 เท่า (95% CI: 8.82, 20.32)] ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง มีโอกาสหกล้มสูงเช่นกัน [4.75 เท่า (95% CI: 3.08, 7.32) และ 7.66 เท่า (95% CI: 4.94, 11.87)] สำหรับการคัดกรองด้วยการซักประวัติ 3 คำถาม ร่วมกับ TUG และ Thai-SIB 6 ข้อ ร่วมกับ TUG ตามลำดับ โดยสรุป ผลการศึกษานี้เสนอแนะขั้นตอนวิธีการคัดกรอง 2 ขั้นตอน มีประสิทธิภาพและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพื่อค้นหาผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้มในชุมชนได้