Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการวิ่งที่ระดับความหนักปานกลางต่อระยะเวลาการเกิดภาวะเอียงของกระดูกเชิงกราน (pelvic drop) ในนักวิ่งมือใหม่ และนักวิ่งสันทนาการเพศหญิง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแนวการเอียงของกระดูกเชิงกราน (pelvic alignment)กับอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate; HR), การใช้ออกซิเจน (VO2 uptake), ค่าความรู้สึกเหนื่อย (Rating of Perceived Exertion; RPE), ค่าความรู้สึกล้าของขา (Rating of Perceived Exertion for legs; RPElegs) และความล้าของกล้ามเนื้อ Gluteus medius และ Gluteus maximus กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยครั้งนี้อายุระหว่าง 18 - 35 ปี เป็นนักวิ่งมือใหม่ (ประสบการณ์น้อยกว่า 1 ปี) 27 คน และนักวิ่งสันทนาการ (ประสบการณ์ 2 - 4 ปี) 27 คน ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับการทดสอบประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด (VO2max) และวิ่งบนลู่วิ่ง 30 นาที ที่ระดับความหนักปานกลางที่อัตราเร็วที่เลือกเอง (นักวิ่งมือใหม่; 5.87 ± 0.62 กม./ชม. vs. นักวิ่งสันทนาการเพศหญิง; 6.44 ± 0.58 กม./ชม.) โดยอยู่ในช่วงอัตราการเต้นหัวใจที่ 40 - 59% ของอัตราการเต้นหัวใจสำรองสูงสุด (heart rate reserve; HRR) ขณะทดสอบบนลู่วิ่ง 30 นาที นักวิ่งทั้งสองกลุ่มจะถูกบันทึกค่าอัตราการเต้นของหัวใจ, การใช้ออกซิเจน, ค่าความรู้สึกเหนื่อย, ค่าความรู้สึกล้าของขา และวัดการทำงานของกล้ามเนื้อ (muscle activity) จากสัญญาณไฟฟ้า (electromyography; EMG) ที่กล้ามเนื้อ Gluteus medius และ Gluteus maximus ทุก ๆ 2 นาที พร้อมกับการบันทึกองศาของกระดูกเชิงกราน ทุก 1 นาที ข้อมูลทั้งหมดถูกวิเคราะห์ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มนักวิ่งมือใหม่ และนักวิ่งสันทนาการเพศหญิง มีค่าเฉลี่ยของเวลาในการเกิดภาวะเอียงของกระดูกเชิงกรานขณะวิ่งที่ระดับความหนักปานกลาง 8.15 ± 5.07 และ18.37 ± 6.70 นาที ตามลำดับ (p < .01) จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบความสัมพันธ์ระหว่างแนวการเอียงของกระดูกเชิงกรานกับค่าอัตราการเต้นของหัวใจ (r=.56), การใช้ออกซิเจน (r=.47), ค่าความรู้สึกเหนื่อย (r=.47) และค่าความรู้สึกล้าของขา (r=.48) ในกลุ่มนักวิ่งมือใหม่ (p < .01) และพบความสัมพันธ์ระหว่างแนวการเอียงของกระดูกเชิงกรานกับค่าอัตราการเต้นของหัวใจ (r=.44), การใช้ออกซิเจน (r=.41), ค่าความรู้สึกเหนื่อย (r=.39) และค่าความรู้สึกล้าของขา (r=.32) ในกลุ่มนักวิ่งสันทนาการ (p < .01) ข้อมูลไม่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างแนวการเอียงของกระดูกเชิงกรานที่เพิ่มขึ้นกับความล้าของกล้ามเนื้อ Gluteus medius และ Gluteus maximus ในทั้งสองกลุ่ม เมื่อสิ้นสุดการทดสอบการวิ่งบนลู่วิ่ง 30 นาทีกล้ามเนื้อ Gluteus medius 4 คน (15%) และGluteus maximus 7 คน (26%)ในกลุ่มนักวิ่งมือใหม่ และเกิดความล้าของกล้ามเนื้อ Gluteus medius 8 คน (30%) และGluteus maximus 8 คน (30%) ในนักวิ่งสันทนาการ จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า กลุ่มนักวิ่งมือใหม่เกิดภาวะเอียงของกระดูกเชิงกรานในเวลาที่เร็วกว่านักวิ่งสันทนาการเพศหญิง และชี้ให้เห็นว่าสามารถนำตัวแปรต่าง ๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, ค่าความรู้สึกเหนื่อย, ค่าความรู้สึกล้าของขามาประเมินตนเองขณะวิ่ง เพื่อเป็นแนวทางในการวิ่งโดยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเอียงของกระดูกเชิงกราน