Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสื่อสารประเด็นสาธารณะที่ก่อให้เกิดความสนใจของสาธารณชนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในสังคม และการค้นหาองค์ประกอบต่างๆที่เอื้อต่อการสื่อสารประเด็นสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยอิงกรอบแนวคิดและทฤษฎีด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนา กระบวนการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การจัดการการสื่อสารเชิงประยุกต์ (applied communication management) และแนวคิดและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ที่เอื้อต่อกระบวนการสื่อสารประเด็นสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานเพื่อค้นหากรณีศึกษา โดยมีการวิเคราะห์เอกสาร การสำรวจ และการสัมภาษณ์เจาะลึก ผลการวิจัยพบว่า 1. กระบวนการสื่อสารประเด็นสาธารณะซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการซึ่งกลุ่มบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายเชิงการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล อาทิ การเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมบุคคล หรือเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ นโยบาย กฎหมาย หรือระบบสนับสนุนอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนั้นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องยังได้ร่วมกันพิจารณามาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม ทั้งมาตรการด้านการสื่อสาร อันได้แก่ การแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารรณรงค์ และการชี้แนะเชิงนโยบาย และมาตรการด้านอื่นๆ อันได้แก่ มาตรการเชิงกายภาพ เชิงนโยบาย เชิงกฎหมาย เป็นต้น และการลงมือปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนมีขั้นตอนเกี่ยวกับการป้อนข้อมูลกลับ (feedback) เข้าสู่ขั้นตอนของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกันเป็นระยะๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าว มักนำไปสู่การร่วมกันกำหนดเป้าหมายใหม่/ปรับเปลี่ยนเป้าหมายเดิม และการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป 2. องค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการสื่อสารประเด็นสาธารณะที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วย องค์ประกอบเชิงบุคคล/องค์กร (ความมุ่งมั่น ความน่าเชื่อถือ การวางบทบาทผู้สนับสนุน ความหลากหลาย ความเป็นสื่อกลาง ความเป็นหุ้นส่วนของบุคคลในวงการสื่อมวลชน) เชิงเป้าหมาย (ครอบคลุม ประโยชน์สาธารณะ ท้าทาย) องค์ประกอบเชิงการออกแบบกระบวนการสื่อสาร (มาตรการคู่ขนาน ยืดหยุ่น ครบวงจร) เชิงสาร (เอกภาพ รูปธรรม โดดเด่น อิงข้อมูลสนับสนุน) เชิงช่องทาง (หลากหลาย ผลิตและแพร่กระจายในวงกวาง) และองค์ประกอบเชิงบริบทแวดล้อม (การเมือง นโยบาย กฎหมาย กระแสสังคม)