Abstract:
ที่มา: การเพาะเชื้อจากกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อน เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียดื้อยา แต่วิธีนี้ยังมีข้อจำกัดในแง่เวลาที่ต้องรอผลเพาะเชื้อนานหลายวันก่อนที่จะนำกล้องไปใช้กับผู้ป่วยรายอื่นต่อไปได้ ในขณะที่การตรวจวัดอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่พบอยู่ในจุลชีพ และสารอินทรีย์ เป็นการทดสอบที่ให้ผลการตรวจทันที รวดเร็วกว่าการเพาะเชื้อ ซึ่งอาจสามารถนำมาใช้ตรวจสอบการปนเปื้อนของกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อนหลังจากผ่านการทำความสะอาด
วัตถุประสงค์: ประเมินความสามารถของการทดสอบการตรวจวัดค่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต ภายหลังจากการทำความสะอาดกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อนในกระบวนการทำลายเชื้อระดับสูง ในการทำนายการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยมีการเพาะเชื้อเป็นการตรวจมาตรฐาน
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้ได้รวบรวมข้อมูลจากกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อนที่ผ่านการใช้งานในผู้ป่วย 84 ราย ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 ถึงกันยายน 2561 โดยได้ทำการเพาะเชื้อ 84 ครั้ง จากสิ่งส่งตรวจที่ได้จากการป้ายตรวจบริเวณเอเลเวเตอร์ และทำการเพาะเชื้อ 84 ครั้ง จากน้ำล้างบริเวณช่องใส่อุปกรณ์ทำงานของกล้อง ร่วมกับได้ทำการตรวจวัดค่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตจำนวน 168 ครั้ง โดยได้วิเคราะห์หาค่าความจำเพาะ ความไว ค่าการทำนายโรคเมื่อผลตรวจเป็นลบและบวก และค่าความถูกต้องของค่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต ที่ระดับ 200 หน่วยรีเลทีพไลท์ยูนิท (อาร์แอลยู) และใช้กราฟอาร์โอซี ในการประเมินหาค่าจุดตัดที่เหมาะสมในการทำนายการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรค
ผลการศึกษา: จากการเพาะเชื้อจากกล้องทั้ง 84 ครั้ง พบเชื้อแบคทีเรียก่อโรคจากกล้องจำนวน 13 ครั้ง (ร้อยละ 15.5) จากสิ่งส่งตรวจที่ได้จากการป้ายตรวจเอเลเวเตอร์ ในขณะที่ไม่พบการเปื้อนเลยจากสิ่งส่งตรวจที่ได้จากน้ำล้างช่องใส่อุปกรณ์ทำงาน นอกจากนี้พบว่าในจำนวน 13 ผลการตรวจที่ตรวจพบเชื้อแบคทีเรียก่อโรคดังกล่าว มี 12 ผลการตรวจ (ร้อยละ 92.3) ที่ส่งตรวจมาจากกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อนตัวเดียวกัน ซึ่งพบในภายหลังว่ามีสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กติดอยู่ที่บริเวณเอเลเวเตอร์ จากการวิเคราะห์การตรวจวัดค่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตด้วยกราฟอาร์โอซี พบว่ามีพื้นที่ใต้กราฟอาร์โอซี เท่ากับ 0.75 และจุดตัดที่เหมาะสมในการใช้ทำนายการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคของกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อนภายหลังทำความสะอาดในกระบวนการทำลายเชื้อระดับสูง คือ ค่าตัวเลข 40 อาร์แอลยู เนื่องจากมีความไวและค่าการทำนายโรคเมื่อผลตรวจเป็นลบเท่ากับร้อยละ 100
สรุปผล: การตรวจวัดค่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตเป็นการทดสอบที่มีประโยชน์ในการให้ผลตรวจที่รวดเร็วในการตรวจสอบความสะอาดของกล้องส่องท่อน้ำดีและตับอ่อน เนื่องจากค่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตมีความสัมพันธ์ที่ดีกับการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคที่ตรวจพบจากการเพาะเชื้อ โดยแนะนำให้ใช้ค่าตัวเลขที่ 40 อาร์แอลยู เป็นจุดตัดของการทดสอบ