Abstract:
วัตถุประสงค์ ศึกษาหาความชุกของการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ในขนาดที่แตกต่างจากมาตรฐานในคนไทยและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสั่งยาในเวชปฏิบัติ
วิธีการศึกษา ทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ทุกชนิดและทุกข้อบ่งชี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 วิเคราะห์หาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสั่งยาขนาดที่แตกต่างจากมาตรฐาน โดยใช้สถิติการวิจัยชนิดอัตราส่วนแต้มต่อ ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 และการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก
ผลการศึกษา มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระหว่าง 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ทุกข้อบ่งชี้จำนวน 445 ราย มีผู้ป่วยร้อยละ 53.26 ที่ได้รับยาในขนาดที่แตกต่างจากมาตรฐาน เพศหญิงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสั่งยาขนาดต่ำกว่ามาตรฐาน ในขณะที่อายุที่มากกว่า 80 ปี ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ระหว่าง 15 ถึง 50 มิลลิลิตรต่อนาทีและโรคร่วมที่มากกว่าหรือเท่ากับสองโรคขึ้นไปเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการสั่งยาของแพทย์อย่างเหมาะสม พบว่าการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกเป็นข้อบ่งชี้ที่มีการใช้ยาต่ำกว่ามาตรฐานสูงสุดถึงร้อยละ 73.90 หากวิเคราะห์ในกลุ่มย่อยไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านอายุ เพศ น้ำหนัก ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ โรคร่วม ต่อการสั่งยาในขนาดที่แตกต่างจากมาตรฐาน
สรุป ความชุกของการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ในขนาดที่แตกต่างจากมาตรฐานในคนไทย พบสูงถึงร้อยละ 53.26 ซึ่งสูงกว่าการศึกษาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ปัจจัยที่มีอิทธิพล ได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนัก ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์และการมีหลายโรคร่วม