Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประเมินตนเสมือนวัตถุ ความผิดปกติในการกิน และสุขภาพจิตของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 395 คน เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการศึกษานี้ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการประเมินตนเสมือนวัตถุ แบบประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการกินฉบับภาษาไทย และแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 17.65 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.53) ส่วนใหญ่มีระดับสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป ร้อยละ 39.7 ค่าเฉลี่ยของการประเมินตนเสมือนวัตถุเท่ากับ 3.64 (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.51) ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติในการกิน (EAT ≥ 12) พบร้อยละ 23.8 การประเมินตนเสมือนวัตถุมีความสัมพันธ์ทางบวกกับตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ การเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (r = 0.847) ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (r = 0.673) ความเชื่อเรื่องการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (r = 0.647) และความผิดปกติในการกิน (r = 0.340) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) และการประเมินตนเสมือนวัตถุมีความสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -0.153, p < 0.01) ปัจจัยทำนายโอกาสเกิดความผิดปกติในการกินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การมีประวัติโรคทางจิตเวช (ORadj = 7.01, 95% CI 1.11-44.35) รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของบิดาที่มากกว่า 15,000 บาท (ORadj = 1.80, 95% CI 1.03-3.14) ระดับการศึกษาของมารดาที่สูงกว่าหรือเท่ากับปริญญาตรี (ORadj = 1.91, 95% CI 1.16-3.14) และการเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองในระดับสูง (ORadj = 3.13, 95% CI 1.72-5.73) สรุปได้ว่าการประเมินตนเสมือนวัตถุและด้านย่อยทั้ง 3 ด้าน อันได้แก่ การเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง และความเชื่อเรื่องการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผิดปกติในการกินและสุขภาพจิตที่ต่ำลง ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการประเมินตนเสมือนวัตถุในกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการกินและปัญหาสุขภาพจิตได้