Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาภาคตัดขวางเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน การสนับสนุนจากครอบครัว กับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การคัดเข้า จำนวน 381 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ระหว่างเดือน สิงหาคม - ตุลาคม พ.ศ. 2562 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square, t-test, One-way ANOVA และการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 65.9) มีอายุเฉลี่ย 70 ปี จบการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 85.3) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร (ร้อยละ 42.5) รองลงมาไม่ได้ประกอบอาชีพ และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 34.1 และ 16.0 ตามลำดับ) มีรายได้ประจำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 78.2) มีสถานภาพสมรส (ร้อยละ 59.6) การพักอาศัยส่วนใหญ่อยู่กับบุตร (ร้อยละ 64.04) และไม่ได้เป็นสมาชิกของชมรมหรือสังคม (ร้อยละ 69.6) ส่วนมากมีโรคประจำตัว (ร้อยละ 68.5) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 58.79) เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง (ร้อยละ 31.76 และ 23.62 ตามลำดับ) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มติดสังคมมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 19.12 ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.14 มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 92.63 ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 46.73 จากการหาความสัมพันธ์ พบว่า อาชีพหลัก รายได้ประจำ สถานภาพสมรส โรคประจำตัว สถานะโรค ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และการสนับสนุนจากครอบครัว มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านคะแนนสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ พบว่า อายุอาชีพหลัก รายได้ประจำ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และการสนับสนุนจากครอบครัว มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังพบว่าคุณภาพชีวิต มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ (r = 0.669, p < 0.001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุไทย และเป็นแนวทางในวางแผนการให้การดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างเหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาและเป็นแบบอย่างของการดูแลผู้สูงอายุต่อไป