Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะซึมเศร้า ความสัมพันธ์ของปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งลักษณะการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และความชุกของการติดสื่อสังคมออนไลน์ ของผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานคร การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาโดยศึกษา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง ดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ สังกัดศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร โดยเลือกจากชมรมผู้สูงอายุจากการแบ่งกลุ่มเขตของ กรุงเทพมหานคร 6 เขต เลือกมาเขตละ 1 ชมรม เพื่อเป็นตัวแทนประชากรของแต่ละกลุ่มเขต จำนวนทั้งสิ้น 212 คน ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบบสอบถามจำนวน 3 ชุดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบทดสอบการติดสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Addiction Screening Scale: S - MASS) 3) แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า ฉบับภาษาไทย (PHQ - 9) และผู้วิจัยเก็บข้อมูลการใช้สื่อสังคมออนไลน์จากอุปกรณ์ที่ผู้เข้าร่วมวิจัยใช้ย้อนหลัง 6 วัน ด้วยแอพพลิเคชั่น Usage Time - App Usage Manager ด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด ใช้สถิติเชิงอนุมาน เพื่อหาความสัมพันธ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะซึมเศร้าได้แก่ Chi square, t - test, Pearson’s correlation, one way ANOVA และใช้การวิเคราะห์การถดถอย Logistic regression และ Multiple linear regression เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทำนายการติดสื่อสังคมออนไลน์ และภาวะซึมเศร้า โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับน้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานคร มีคะแนนเฉลี่ยของการติดสื่อสังคมออนไลน์เท่ากับ 16.57 ± 8.625 คะแนน มีระดับการติดสื่อสังคมออนไลน์ความเสี่ยงต่ำ ร้อยละ 44.8 ความเสี่ยงปานกลาง ร้อยละ 49.1 ความเสี่ยงสูง ร้อยละ 6.1 ซึ่งมีปัจจัยที่สัมพันธ์ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง (p < 0.05) การใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (p < 0.01) ระยะเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ใน 1 วัน (p < 0.01) และการเล่นเกมที่เชื่อมต่อกับสื่อสังคมออนไลน์ (p < 0.01) อีกทั้งยังพบว่าระยะเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ใน 1 วัน และการเล่นเกมที่เชื่อมต่อกับสื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยในการทำนายการติดสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มตัวอย่างด้วย ส่วนภาวะซึมเศร้านั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีคะแนนภาวะซึมเศร้าเฉลี่ย 3.90 ± 3.305 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 5.7 ซึ่งมีปัจจัยที่สัมพันธ์คือ การเล่นเกมที่เชื่อมต่อกับสื่อสังคมออนไลน์ (p < 0.01) และเป็นปัจจัยทำนายด้วย อีกทั้งยังพบว่าการติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะซึมเศร้านั้นสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ พบความชุกของความเสี่ยงสูงในการติดสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 6.1 ความชุกของภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 5.7 และพบว่าการติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะซึมเศร้านั้นสัมพันธ์กันทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ